“ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม”เผย ศธ.นำดิจิทัลจัดการเรียนการสอนได้ แต่อย่าทิ้งหัวใจของ Active Learning  GPAS 5 Steps ที่เน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม  อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะนำสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มาใช้จัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ว่า ตนไม่มีความรู้ในเรื่องการนำระบบดิจิทัลมาใช้ กับการเรียนการสอนแบบ Active Learning จะทำได้หรือไม่ ขนาดไหน ซึ่งก็อาจจะทำได้ก็ได้ เพราะการเรียนการสอนแบบ Active Learning  GPAS 5 Steps จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งทั้งครูและนักเรียนต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเพื่อจะได้ก้าวทันโลก แต่หลักใหญ่คืออย่าทิ้งหัวใจของ Active Learning  GPAS 5 Steps ที่เน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น มากกว่าครูสอน ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็อาจจะใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็เกรงว่าการให้เด็กคิดเอง ทำเอง คิดเป็น ทำเป็น แล้วเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะทำให้ทิ้ง Active Learning เพราะเด็กจะไปเพลิดเพลินกับเทคโนโลยี ดังนั้นถ้าสามารถผสมผสานได้ก็ถือว่าดี แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้

 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า หัวใจของ Active Learning คือ ครูต้องมีความเข้าใจ ต้องมีการประสานระหว่างภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งเด็กไปฝึกงาน ทดลองทำงาน และ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนโดยเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่ง เพราะเกรงว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะทิ้ง Active Learning หากเป็นจริงก็น่าเสียดาย Active Learning สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ดิจิทัล แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้อยู่ในยุคคอมพิวเตอร์ยุคดิจิทัล รู้ไว้ก็ไม่เสียหายแต่จะเอามาใช้ถึงขนาดแจกแท็บเล็ตหรือซื้อแจกกันทุกโรงเรียน ให้เด็กทุกคนอาจจะสิ้นเปลือง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคุ้มหรือไม่ เพราะ Active Learning ไม่ได้เริ่มที่การซื้อเครื่องมือแต่เริ่มที่การเรียนการสอนเพื่อให้เข้าใจ GPAS 5 Steps ซึ่งไม่มีขั้นตอนที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี แต่ก็สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นส่วนประกอบได้ 

“การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ และยั่งยืน จะต้องไม่ใช่นโยบายกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวแต่ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล แล้วมีการวางแผนตั้งแต่ระดับรัฐบาล มาถึงกระทรวงศึกษาธิการ และต่อไปถึงโรงเรียน สถานศึกษาต่าง ๆ แต่ผมไม่แน่ใจในนโยบายของรัฐบาลนี้ แต่ในอดีตรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Active Learning มาโดยตลอดตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นแกนหลักเรื่องนี้อยู่ และในสมัย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ก็มีการสานต่อ แต่มาถึงรัฐบาลนี้ไม่ทราบว่าได้มีการเดินหน้าต่อขนาดไหนเพียงใด” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามความสำคัญหรือวิธีการในการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ได้ผล คือ หลักสูตรจะต้องเอื้อต่อการใช้ Active Learning เป็นวิธีการเรียนการสอนได้ ซึ่งที่ผ่านมาใช้หลักสูตรอิงมาตรฐาน แต่ตอนหลังก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนเป็นฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน อย่างไรก็ตามเรื่องหลักสูตรมีการทะเลาะกันมาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งเท่าที่สังเกต คือ ใครมาเป็นเจ้ากระทรวงศึกษาธิการก็จะมีคนสนับสนุนให้เปลี่ยนหลักสูตรอยู่เรื่อย เพราะเปลี่ยนหลักสูตรทีก็เปลี่ยนตำราที พ่อแม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อตำราใหม่ หนังสือพี่น้องใช้ต่อกันไม่ได้ แล้วรัฐก็มาทุ่มเงินซื้อแท็บเล็ตแจก ซึ่งมองว่าไม่ค่อยตรงเป้าหมายของ Active Learning เท่าไหร่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้มีข่าวว่าจะมีการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาเปลี่ยนชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นคำว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่เนื้อในคงเดิม ดร.วิษณุ กล่าวว่า  ถ้าแค่เปลี่ยนชื่อก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วเปลี่ยนเนื้อหาไส้ในด้วย ก็ควรจะกลับไปสู่หลักสูตรอิงมาตรฐานจึงจะถือว่าทำสำเร็จ เท่าที่ได้ยินตอนนี้มีการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่จังหวัดเชียงใหม่ในโรงเรียนหลายแห่ง แต่หลักสูตรก็ยังไม่เสร็จ ตำราก็ยังไม่เสร็จ ซึ่งคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลมีคนที่แนะนำได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้นักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งรวมถึงทั้งคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ให้คำแนะนำกระทรวงศึกษาธิการในเรื่อง Active Learning ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือต้องอย่าดื้อถ้าได้รับคำแนะนำมาแล้ว ต้องเอาไปพิจารณาประกอบด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มากหมอก็มากความที่ปรึกษามีเยอะก็เลยออกมาคนละอย่าง ที่ยุ่ง ๆ อยู่ตอนนี้ก็ที่ปรึกษาทั้งนั้น

“ถ้า Active Learning เป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะเดินหน้าแน่ ก็เชื่อว่าจะต้องเดินหน้าได้  ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีกี่คนก็จะยืนยงคงกระพัน ที่ผ่านมาเราเคยมีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีงานวิจัยที่วิเคราะห์กันมาแล้ว เราก็น่าจะมีคณะกรรมการมาดูเรื่อง  Active Learning หากได้นำมากลั่นกรองก็น่าจะทำประโยชน์ได้ แต่การที่กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยก็เลยทำให้มีความไม่แน่นอน และยังมีการเอา Active Learning ไปผูกไว้กับคน พอคนเปลี่ยนนโยบายก็เปลี่ยน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรเป็นอย่างนั้น ควรจะเอามาผูกไว้กับกระทรวง ผูกไว้กับหลักสูตรและครูอาจารย์มากกว่า” ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าว