รมช.ศธ. “สุรศักดิ์” ชื่นชมกระทรวง อว. ในการนำนวัตกรรมร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลก มรดกทางวัฒนธรรม โดรนแปรอักษรสร้างความตระการตาใน งาน ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก 2567 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการนำโดรนแปรอักษรส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อมรดกทางวัฒนธรรมของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในงาน ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวการสนับสนุนกิจกรรม และนายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับ ในการนี้ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้ควบคุมการจัดแสดงบินโดรนแปรอักษร ณ เวทีกลาง บริเวณบึงพระราม ในงาน ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก 2567 โดยมีผู้บริหารของจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมชมการแสดงเป็นจำนวนหลายหมื่นคน

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในงานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้น ณ บริเวณบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการแสดงครั้งนี้ใช้โดรนแปรอักษรจำนวน 500 ลำ  ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมที่ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นที่รู้จักในสายตาของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดร่วมกับ “งานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและประเพณีอันทรงคุณค่าของไทยได้อย่างลงตัวสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ความสำเร็จของโครงการในการจัดแสดงครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าแก่สังคม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย วช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม กับการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ โดรนนำเสนอภาพมุมสูงที่สวยงามตระการตา ช่วยเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ที่หลากหลายในพื้นที่ให้มีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางและเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO มีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็น ” มรดกโลก ” เมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2534  ซึ่งการนำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาช่วยส่งเสริม การท่องเที่ยวสามารถเผยแพร่ความงดงามและเอกลักษณ์รวมถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปสู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้กว้างขวางยิ่งขึ้น 

นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวต้อนรับ การเข้าสู่พิธีเปิดกิจกรรม “แสดงโดรนแปรอักษรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคกลาง” ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน “ยอยศยิ่งฟ้า มรดกโลก 2567” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกิจกรรมแสดงโดรนแปรอักษรครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในภาคกลางให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับการนำเสนอที่สร้างสรรค์และยิ่งใหญ่ตระการตา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศและทั่วโลกให้มาเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลกที่ทรงคุณค่า กิจกรรมการแสดงครั้งนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 ธันวาคม 2567 รวม 3 วัน โดยจะมีการแสดงวันละ 2 รอบ เพื่อมอบความสุข ความประทับใจ และประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในการนี้ การแสดงบินโดรนเพื่อการกระตุ้นการท่องเที่ยว ได้นำโดรนแปรอักษรมากกว่า 500 ลำ จัดแสดงภาพประกอบเสียงที่สวยงาม  อาทิ ภาพตราประจำจังหวัดอยุธยา ภาพโลโก้หน่วยงานกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาพยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ภาพพระเจ้าอู่ทอง ภาพวัดมหาธาตุ ภาพวัดไชยวัฒนาราม ภาพโลโก้การประกวด Ayutthaya Talent ภาพ Star light & sound’s และภาพสัญลักษณ์ อว. วช. เป็นต้น

ทั้งนี้ การแสดงบินโดรนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยชุดการแสดงแสง เสียง Light and Sound ได้สร้างความประทับใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นับเป็นผลสำเร็จจากนวัตกรรมการบินโดรนที่สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างแท้จริง และภายในงานยังมี การออกร้านกาชาด ถนนกินเส้น ลานวัฒนธรรม การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลาดย้อนยุค ชมนิทรรศการประวัติศาสตร์ นิทรรศการนวัตกรรมส่วนราชการ/สถาบันการเงิน/ผู้สนับสนุนการจัดงาน ถนนคนเดิน OTOP อีกมากมาย