สสว. ยกศักยภาพ SME จัดกิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุน เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง

           สสว. มุ่งมั่นยกศักยภาพผู้ประกอบการ จัดกิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 ณ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง หวังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้า ตลาดในประเทศ

           นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ สสว. ได้จัดให้มี กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และพื้นที่ต่อเนื่อง ประกอบด้วยจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยได้มีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4 กิจกรรมหลัก เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 และจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม 2567

           รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ ซึ่งได้เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน SME D Bank หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( ธพว.) และธนาคารออมสิน เป็นหนึ่งใน 4 กิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ EEC และพื้นที่ต่อเนื่อง โดยได้เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ผ่านกิจกรรมที่ 2 (กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึก) เพื่อรับการส่งเสริมจำนวนทั้งสิ้น 30 ราย

           ด้าน นางสาวณัชชารีย์ วังศิริไพศาล เจ้าของกิจการ Bake my Day Studio (จ.จันทบุรี) ผลิตภัณฑ์แยมกุหลาบหรือสัปปะรด เล่าถึงจุดเริ่มธุรกิจว่า ตนทำเบเกอรี่มา 6 ปี โดยทำเค้กและขนมปัง ในช่วงแรกยังไม่มีหน้าร้าน จนเมื่อมีหน้าร้านจึงเริ่มทำแยมผลไม้ Homemade ขึ้นมา และได้ผลตอบรับทั้งลูกค้าชาวไทย และต่างประเทศเป็นอย่างดี เลยอยากต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่ และคิดว่าธุรกิจนี้สามารถเติบโตไปได้อีก ขณะนี้ได้มีการติดต่อไปยังโรงแรมและสายการบินหลายแห่ง เจ้าของกิจการ Bake my Day Studio เผยว่า สิ่งที่คาดหวังที่จะได้รับจากโครงการนี้คือแหล่งเงินทุนและการตลาด

           “เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รู้ว่าทางภาครัฐมีการสนับสนุนต่อยอดไปได้อีก ตนเองคิดว่า ถ้าไม่มีโครงการนี้ นักธุรกิจตัวเล็กคงเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยาก และการที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากแหล่งเงินทุนแล้ว ยังมีทีมเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีด้านการผลิตให้ได้มาตรฐานรวมไปถึงคุณภาพและรสชาติที่ดีอีกด้วย”

           ขณะที่ นายปิยะณัฐ แสงจันทร์ เจ้าของกิจการ PROINS ตั๊กแตนผสมแพลนท์เบส เปิดเผยว่า ธุรกิจมีจุดเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงตั๊กแตนช่วงโควิดคู่ขนานไปกับการศึกษาผลงานวิจัยเกี่ยวกับตั๊กแตนทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ตั๊กแตนมีโปรตีนค่อนข้างสูง

           “ที่โรงงานเราสามารถผลิตผงโปรตีนจากตั๊กแตนเองได้ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ผลิตได้มากที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่ 2 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการด้านอาหารโปรตีนของโลก เรามองเห็นช่องทางและโอกาส ที่ตอบโจทย์ Pain point ของโลก และตอบโจทย์สุขภาพดี ลดโลกร้อน ช่วยเหลือสังคม จึงทำผลิตภัณฑ์นี้ออกมา ตอนนี้ได้มาตรฐาน GAP ORGANIC FARM GMP และกำลังจะได้ มาตรฐานฮาลาล โดยมีแผนจะส่งออกไปยังประเทศจีน และเมื่อได้ฮาลาลมา ก็จะส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) ด้วย”

           นายปิยะณัฐ ยังเผยถึงความคาดหวังจากการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า ตนอยากมีพันธมิตรหรือการจับคู่ธุรกิจ และสนับสนุนชุมชนที่เราดูแลเพื่อสร้างมูลค่ากับผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงานมากขึ้น และคาดหวังว่าผู้เชี่ยวชาญจะช่วยแนะนำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองสั้นลง สามารถเชื่อมโยงไปถึงแหล่งเงินกู้และแหล่งสนับสนุนของเงินทุนได้ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ หลักๆ คือเรื่องแผนธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวแบรนด์สกัดจากตั๊กแตนที่ปลอดสารเคมีและเพิ่มอาหารเสริมเข้าไป เทียบเคียงกับตัวแบรนด์สกัดที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ทั้งยังได้รู้จักคู่ค้าหรือนักธุรกิจได้มีมุมมองใหม่ๆ และ การเชื่อมโยงต่างๆ ในการที่จะไปขายหรือต่อยอดธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังได้แหล่งเงินจากทางภาครัฐที่สนับสนุน และ SME D Bank ได้ให้คำแนะนำว่า ควรเดินบัญชีอย่างไรในการเตรียมตัวยื่นกู้หรือขอเงินหมุนเวียน ซึ่งธนาคารมีเงินช่วยสนับสนุนในการส่งผลิตภัณฑ์ไปออกงานที่ต่างประเทศด้วย ถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการออกบูธที่ต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้คนรับรู้มากขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

           กิจกรรมเชื่อมแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ เป็นหนึ่งใน 4 กิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และพื้นที่ต่อเนื่อง ตลอดโครงการ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ถึง เดือนธันวาคม 2567 ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 :  ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง กิจกรรมที่ 3 : สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และกิจกรรมที่ 4 : เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนหรือสถาบันการเงินอื่นๆ