จากการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าขยะพลาสติกเป็นตัวการสำคัญที่พรากชีวิตสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นน้องพะยูนน้อยมาเรียม เต่า หรือวาฬ แสดงให้เห็นว่า ขยะพลาสติกสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลและสภาพแวดล้อม ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างครบวงจร ตรงประเด็นและเบ็ดเสร็จทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติ บนฐานการวิจัยที่พร้อมใช้งาน และสามารถปรับไปตามสภาพปัญหาและพื้นที่ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่องและจริงใจของทุกภาคส่วน วช. จึงจัดการแถลงข่าว เรื่อง “ทะเลไทย” ต้อง “ไร้ขยะ” ขึ้น ณ ห้องประชุม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ทะเลไทยไร้ขยะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม วช. ร่วมกันแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศและส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ประสาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันบนฐานงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการลดปัญหาการตกค้างของขยะพลาสติกในทะเล จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น วช. ได้ชูประเด็นในการแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องดำเนินการใน 5 ประเด็นหลักคือ
1. ผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ง่ายต่อการจัดการขยะและการนำกลับไปใช้ใหม่ สามารถตรวจสอบเส้นทางวงจรผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตถึงวาระสุดท้ายของพลาสติก โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่ผลิตเม็ดพลาสติก ในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาแล้วมากกว่า 15 ผลิตภัณฑ์ รวมถึง บรรจุภัณฑ์ หลอด วัสดุก่อสร้าง วัสดุประกอบอาคาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
2. ชุมชนในพื้นที่ทุกจังหวัดที่ติดทะเล จะต้องรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกได้ด้วยตนเองและเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ได้ดำเนินการใน 23 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อาทิ ชายหาดบางแสน แสมสาร เกาะหลีเป๊ะ และเกาะภูเก็ต
3. ต้องมีกระบวนการเก็บและจัดการขยะในทะเลอย่างเป็นระบบในทุกพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และชุมชน และรู้ตัวเลขขยะพลาสติกในทะเลที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปีที่หนึ่ง และเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในปีถัดไป
4. นำขยะพลาสติกมารีไซเคิลโดยไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ โดยเฉพาะการตกค้างในสัตว์ทะเลและสิ่งมีชีวิต
5. ลดการตกค้างของไมโครพลาสติกที่ตกค้างในทะเลและสิ่งมีชีวิตบนฐานจากการวิจัยที่สามารถเทียบมาตรฐานกับนานาชาติได้
โดย 5 ประเด็นดังกล่าวได้บรรจุไว้ในโครงการ “ทะเลไทย ไร้ขยะ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย ซึ่งได้เริ่มการวิจัยมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทยที่เน้นการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ มีการประยุกต์องค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้แก้ปัญหาจริงอย่างครบวงจรและยั่งยืน ทั้งนี้ วช. เป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยและให้การสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมีแผนงานในภาพรวมประกอบด้วย การจัดการพลาสติกอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตในระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตในภาคเอกชนในการวางระบบติดตามผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกจนถึงปลายทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตผลิตภัณฑ์ การนำไปใช้ และการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อกำจัดปัญหาขยะที่ทิ้งสู่ทะเลจากบนบกในระยะยาวและเป็นการกำจัดปัญหาขยะทะเลจากต้นทาง
องค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวตามมาในภายหลัง โดยการทำงานร่วมกับผู้ผลิตและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีและเชิงสังคม รวมถึง การสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติก และรีไซเคิลพลาสติกที่ การกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของขยะพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการนำมาใช้งานและกำจัด การสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายและสร้างความตระหนักรวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาผ่านระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การวิจัยเพื่อจัดการขยะทะเลตกค้างที่มีขนาดใหญ่จนถึงไมโครพลาสติก โดยการทำงานร่วมกับ ภาคประชาสังคมในพื้นที่และหน่วยงานระดับท้องถิ่นเพื่อลดและป้องกันปัญหาขยะตกค้างอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีและเชิงสังคม รวมถึงการสร้างเครือข่าย “นักรักทะเลไทย” เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมผ่านสื่อหลากหลายรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมต่าง ๆ การนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อช่วยในการเก็บรวบรวมขยะตกค้าง การกำหนดมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ไมโครพลาสติก เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบของขยะพลาสติกตกค้างในทะเลในระยะยาวอย่างยั่งยืน“ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถลดการสูญเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติก และสัตว์ทะเลจะได้รับการป้องกันจากอันตรายและผลกระทบจากขยะทะเลในที่สุด”ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วน