จังหวัดปทุมธานี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เตรียมพร้อมจัดงานประเพณีลอยกระทงประจำปี 2561 เพื่อเล่าขานตำนานดอกบัวแห่งเมืองปทุม และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชนชาติพันธุ์ไทย-รามัญซึ่งอยู่อาศัยในจังหวัดปทุมธานีมายาวนาน พร้อมกิจกรรมมากมาย และการประกวดกระทงชิงถ้วยรางวัลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในงาน “ปทุมบูชา ตระการตาเพ็ญเดือนสิบสอง” บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ปทุมธานี และงาน “ตำนานสายน้ำปทุมธานี วิถีไทยรามัญ” บริเวณวัดสุราษฎร์รังสรรค์ อำเภอสามโคก ในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายนนี้
นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า จังหวัดปทุมธานีมีนโยบายในการส่งเสริม ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม รวมทั้งอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และ ในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง จังหวัดปทุมธานี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด จะจัดงานประเพณีลอยกระทง 2 แห่งด้วยกัน คือ งาน “ปทุมบูชา ตระการตาเพ็ญเดือนสิบสอง” บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ปทุมธานี และงาน “ตำนานสายน้ำปทุมธานี วิถีไทยรามัญ” บริเวณวัดสุราษฎร์รังสรรค์ อำเภอสามโคก ซึ่งงานที่จะจัดขึ้นทั้ง 2 แห่งจะสื่อสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเมืองดอกบัว และเอกลักษณ์ของชุมชนชาติพันธุ์ไทย-รามัญ ซึ่งอยู่อาศัยในจังหวัดปทุมธานีมาเป็นเวลาช้านาน ภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมและซึมซับในประเพณีที่ดีงามของไทย งานประเพณีลอยกระทงทั้ง 2 แห่ง จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยตกแต่งบริเวณงานให้ได้บรรยากาศย้อนยุค ผู้ที่มาร่วมลอยกระทงและเข้าชมงานจะได้รับความเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการแสดงประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน การสาธิตประดิษฐ์กระทงในรูปแบบการรักษาสิ่งแวดล้อมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การออกร้านของผู้ค้าต่าง ๆ ในท้องถิ่น การประกวดหนูน้อยนพมาศ และการประกวดกระทง
ซึ่งปีนี้ได้รับเกียรติจาก นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มอบถ้วยรางวัลมาให้สำหรับการประกวดกระทง โดยงาน “ปทุมบูชา ตระการตาเพ็ญเดือนสิบสอง” บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลจาก นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจาก รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ และรางวัลชมเชยได้รับถ้วยรางวัลจากนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ส่วนงาน “ตำนานสายน้ำปทุมธานี วิถีไทยรามัญ” บริเวณวัดสุราษฎร์รังสรรค์ อำเภอสามโคก ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และผู้บริหารระดับจังหวัดตามลำดับเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว เพื่อให้เป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ยังได้จัดการประกวดภาพถ่ายภายในงานอีกด้วย โดยตัดสินจากยอดไลค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรูปที่มียอดไลค์มากที่สุดจะได้รับรางวัลเงินสด พร้อมใบประกาศนียบัตรจากทางจังหวัด โดยผู้ที่อยู่ในงานจะได้ร่วมลุ้นกันอย่างสนุกสนานแน่นอน
เมืองปทุมธานีเริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่น้อยกว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามประวัติจะกล่าวถึงชุมชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยหลายระลอก ณ ชุมชน “บ้านสามโคก” ที่ต่อมากลายเป็น “เมืองสามโคก” หรืออำเภอสามโคกในปัจจุบัน สำหรับที่มาของชื่อ “ปทุมธานี” มาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(ร.2) ได้เสด็จประภาสเมืองสามโคก เหล่าพสกนิกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมอญมีความปลาบปลื้มใจเป็นล้นพ้น จึงได้พากันนำดอกบัวหลวงที่มีขึ้นอยู่มากมาย ขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นราชสักการะอยู่เป็นเนืองนิจ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัย ร.2 เป็นอย่างยิ่งและได้พระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า “เมืองประทุมธานี” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2358 ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้ใช้คำว่า “จังหวัด” แทนคำว่า “เมือง” และให้เปลี่ยนการเขียนชื่อจังหวัดประทุมธานีใหม่เป็น “ปทุมธานี” มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดปทุมธานีในปีนี้ มีการจัดขึ้น 2 งาน โดยมีแนวความคิดแตกต่างกัน งาน “ปทุมบูชา ตระการตาเพ็ญเดือนสิบสอง” ซึ่งจะจัดขึ้นที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ปทุมธานี
สื่อถึงประเพณีลอยกระทงที่น่าประทับใจในคืนเพ็ญเดือนสิบสองของชาวปทุมธานี โดยคำว่า ปทุม แทนความหมายถึงจังหวัดปทุมธานีและชาวปทุมธานี นอกจากนั้นคำว่า ปทุม ยังสื่อความหมายถึง ดอกบัว หรือ กระทง ซึ่งมีรูปทรงคล้ายดอกบัว เปรียบได้กับการที่ชาวปทุมธานีนำดอกบัวมาบูชา เพื่อสักการะและขอขมาต่อพระแม่ คงคาในประเพณีวันลอยกระทง ส่วนงาน “ตำนานสายน้ำปทุมธานี วิถีไทยรามัญ” ซึ่งจะจัดขึ้นที่บริเวณวัดสุราษฎร์รังสรรค์ อำเภอ สามโคก นั้น สื่อถึงการสืบทอดตำนานสายน้ำของเมืองปทุม ในประเพณีลอยกระทงที่คงเอกลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญ ซึ่งเป็นพื้นเพดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำในจังหวัดปทุมธานี มีความเป็นมาที่ยาวนาน และมีเสน่ห์ น่าประทับใจชวนให้มาสัมผัส