เรื่องราวฉาวโฉ่ภายใน ขสมก.ยังคงมีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการตรวจรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ มีมติไม่รับมอบเมื่อวันที่ 28 ส.ค.เหตุเพราะไม่เคยใช้งานได้จริงแม้แต่ครั้งเดียว พร้อมใจลงชื่อไม่รับมอบเป็นเอกฉันฑ์นำเสนอ รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ให้ยกเลิกสัญญาและขึ้นบัญชีดำตามระเบียบแต่เรื่องกลับเงียบทั้งๆที่หมดสัญญาไปแล้วกว่า 3 เดือน จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า ผู้บริหาร ขสมก.มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับสัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวานนี้(19 ก.ย.) นายธนธัช วิจิตลิมาภรณ์ ได้หอบเอกสารหลักฐานเข้าร้องเรียนผู้การตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่าในนามตัวแทนประชาชนมีความกังวลถึงกรณีพฤติกรรมของผู้บริหาร ขสมก. ต่อโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ ส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบโดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงคือ เมื่อ15 มิ.ย. 60

ขสมก.ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่งให้ดำเนินการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมทั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรืออีทิกเก็ตบนรถเมล์จำนวนทั้งหมด 2,600 คัน โดย ขสมก.จะจ่ายค่าเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,665 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบติดตั้งระบบ 100 คัน ระยะเวลา 120 วัน 700 คัน ระยะเวลา 180 วัน และ 1,800 คัน ระยะเวลา 360 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ครบกำหนดการส่งมอบทั้งหมด 2,600 คัน ในวันที่ 10 มิถุนายน 2561ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าทั้งการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมถึงเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ไม่เคยผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับ สร้างความเสียหายให้แก่ ขสมก.และประชาชนผู้ใช้รถโดยสาร แต่ ขสมก. ยังยื้อเวลาทั้งที่เลยกำหนดส่งมอบตามที่ระบุในสัญญามาเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว

นายธนธัช กล่าวต่อไปว่า ทั้งๆที่  ขสมก.ได้รับความเสียหายแต่ผู้บริหารกลับไม่ดำเนินการยกเลิกสัญญาตามที่ได้ระบุไว้ดังรายละเอียดใน TOR ข้อ 12 เรื่อง “การบอกเลิกสัญญา” ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “…ถ้าองค์การเห็นว่าผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็คทรอนิกส์ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ องค์การจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน…” แต่ ขสมก. กลับมีความพยายามที่จะแบกภาระสัญญานี้ต่อไป โดยมีความพยายามที่จะแยกกรณีค่าเช่าของกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ออกจากสัญญาทั้งฉบับและจัดทำข้อตกลงใหม่ร่วมกับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญา ทั้งๆที่ระบบทั้งสองเป็นสัญญาร่วมกันเพียงสัญญาเดียว หากมีการยกเลิกสัญญาจะต้องทำการยกเลิกสัญญาทั้งหมด ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ก็คือ ขสมก.ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจากข้อมูลของ ขสมก.พบว่า ค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเก็บค่าโดยสารได้ 1 บาท จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 60 สตางค์ ซึ่งการแยกกรณีค่าเช่าของกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ออกจากสัญญาจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโครงการซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรวมถึงการทำประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อย แต่ ขสมก.กลับให้เหตุผลว่า กล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) เป็นระบบที่ไม่จำเป็นในยุคสังคมไร้เงินสดซึ่งเป็นเหตุผลที่ขัดต่อความเป็นจริง เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวันและสิงคโปรเองก็ยังคงใช้งานระบบกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) ดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเหตุผลที่ ขสมก. ได้กล่าวอ้างต่อสื่อมวลชน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องการช่วยเหลือเอกชนรายนี้ไม่ต้องถูกยกเลิกสัญญาและถูกขึ้นแบล็คลิสต์

ทั้งๆที่ข้อกำหนดที่ ขสมก. เองได้ระบุไว้ใน TOR ข้อที่ 10.1 พบว่าโครงการดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ในข้อ 10.1.1 และ กล่องเก็บค่าโดยสาร (Cash Box) ในข้อ 10.1.3 จำนวนทั้งหมด 2,600 คัน หากบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามที่ระบุใน TOR แล้ว ขสมก. กลับไม่ดำเนินการตามบทลงโทษและยกเลิกสัญญา แต่พยายามจะหาทางแก้สัญญารวมถึงแก้ไขข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน TOR จะก่อให้เกิดปัญหาและกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลในโครงการอื่นๆจะนำไปอ้างอิงในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตาม TOR อีกทั้งยังก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนรายอื่นที่เคยเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว นอกจากนี้การกระทำของผู้บริหาร ขสมก.ยังไม่มีระเบียบและกฎหมายใดรองรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน นายธนธัช กล่าว

ส่วนกรณีเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถส่งมอบระบบได้ครบตามที่กำหนด 2,600 คันแถมก่อนหน้านี้ ขสมก.กับเอกชนรายนี้ มีความพยายามที่จะนำคูปองทดแทนค่าโดยสารมาใช้ทดแทนบัตรสวัสดิการภาครัฐเนื่องจากปัญหาความขัดข้องของเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนผู้รับสัญญาดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของระบบต่อไป โดยมีการลงนามในข้อตกลง หรือ MOU ระหว่าง ขสมก. และ บริษัทเอกชน  โดย ขสมก. จะใช้คูปองดังกล่าวเรียกเก็บค่าโดยสารจากบริษัทเอกชนทดแทนการขาดรายได้ทั้งๆที่การใช้คูปองดังกล่าวนั้นไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดรองรับให้สามารถดำเนินการและบังคับใช้ได้ จึงไม่มีหลักประกันใดที่จะยืนยันได้ว่า ขสมก. จะสามารถเรียกเก็บค่าโดยสารดังกล่าวกับบริษัทเอกชนรายนี้ได้และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการจ่ายเงินค่าโดยสารให้ ขสมก.แม้แต่บาทเดียว แต่ ขสมก.กลับจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นส์ให้แก่พนักงานเก็บค่าโดยสารไปแล้ว นั่นหมายความว่า ขสมก.ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องไปแล้ว แต่กลับไม่มีผู้บริหารรายใดออกมาพูดถึง

นายธนธัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในกรณีที่อ้างว่าจะต้องมีการพัฒนาเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) เพื่อรองรับการอ่านบัตรแมงมุมเพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าให้ได้นั้น ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ ขสมก. จะนำมาอ้างเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการแก้ไขสัญญาได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดใน TOR ข้อ 2.3 ที่ระบุไว้ว่า “สามารถร้องรับการใช้งาน e-ticket ผ่าน EMV (Europay, Mastercard and Visa) ในอนาคตได้” นั่นหมายความว่า ระบบดังกล่าวเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการของ ขสมก. ในอนาคต ไม่ใช่หน้าที่ของ ขสมก.หรือหน่วยงานใด ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขสัญญาใดๆเพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชน เนื่องจากข้อกำหนดใน TOR ได้ระบุไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของบริษัทเอกชนผู้รับสัญญา แต่กำลังมีความพยายามที่จะให้การช่วยเหลือเอกชนรายดังกล่าว ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับตาไว้ให้ดี

นายธนธัช กล่าวต่อไปว่าในนามตัวแทนประชาชนทั้งประเทศมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าความประพฤติ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานดังกล่าวนั้นส่อไปในทางทุจริต และดำเนินการต่างๆเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนผู้รับสัญญาอันจะส่งผลกระทบในวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการบริหารงบประมาณภาครัฐอย่างไร้ประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดหาพัสดุที่ไม่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน ทำให้สูญงบประมาณไปอย่างไม่เกิดประโยชน์ ก่อเกิดความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนที่รอรับสวัสดิการใช้รถยนต์โดยสารฟรีจากภาครัฐ หาก ขสมก.ปล่อยปละละเลยเพื่อยืดระยะเวลาให้ยิ่งนานออกไป อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะนำระบบ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์บางส่วนอย่างไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ใน TOR และยังไม่ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการมาใช้งานโดยอ้างความจำเป็น ซึ่งมีความผิดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐอย่างแน่นอน และอาจเป็นเหตุให้เอกชนผู้รับสัญญาอาจถือเอาว่าการกระทำนี้เป็นการรับมอบงานไปโดยปริยาย นำไปสู่การเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาค่าชดเชยจากภาครัฐได้ในภายหลัง ขสมก. เองก็ได้รับทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กลับดูดาย เพิกเฉย ไม่ดำเนินการใดๆ การกระทำเช่นนี้ถือเป็นความผิดโทษฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดทางอาญาที่จะต้องดำเนินการในชั้นศาลต่อไป