เชื่อดิจิทัลเปลี่ยนชีวิตถ้ามีสติในการเลือกใช้งาน “ดีป้า” จับมือ “สแพลช อินเตอร์แอคทีฟ” เฟ้นหาผู้นำทางความคิด ใช้เทคโนโลยี ฟื้นเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศ 


ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และนายจอห์น รัตนเวโรจน์ ซีอีโอ บริษัท สแพลช อินเตอร์แอ็คทีฟ จำกัด ร่วมเสวนา “STAR TECH TALK” ในหัวข้อ “Digital Consciousness สติกับยุคดิจิทัล” พร้อมเปิดโครงการ สร้างการตระหนักรู้ สู่การเป็น “ผู้นำความคิดทางด้านเทคโนโลยี” (STAR TECH 2018) ซึ่งเป็นโครงการที่จะเฟ้นหา บุคคลที่มีความเป็นผู้นำ และมีความคิด ความสามารถในการสร้างสรรค์ และนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชน และประเทศในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด



ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า บทบาทของ depa คือการนำประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ให้เป็นรูปธรรมที่จับต้อง และพัฒนาได้ โดยวางประเทศไทยไว้ในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลโดยให้อยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของดิจิทัล ได้แก่ ซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ศูนย์กลางข้อมูลดิจิทัลคอนเทนต์และอนาไลติก และการบริการด้านดิจิทัล จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างผู้นำด้านเทคโนโลยีขึ้น โดยค้นหาจากกลุ่มคนที่เชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนเราได้ คนที่สนใจและใช้งานเทคโนโลยีมาทำให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจ ดังนั้นจะเห็นว่าหากมีสติในการใช้งานเทคโนโลยีแล้วจะสามารถพาสังคมไทยก้าวไกลสู่สังคมโลกที่ไร้ขีดจำกัดด้วยเทคโนโลยีเต็มรูปแบบได้ ทั้งนี้ depa จึงได้จัดโครงการ สร้างการตระหนักรู้ สู่การเป็น “ผู้นำความคิดทางด้านเทคโนโลยี” (STAR TECH 2018) ขึ้น


งานนี้มีสุดยอดกูรูด้านเทคโนโลยี อย่าง หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ และ ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ เป็นแขกรับเชิญสุดพิเศษ สำหรับคุณสมบัติและมุมมองของโครงการ สตาร์ เทค 2018 นั้น คือการค้นหาผู้นำหรือซูเปอร์สตาร์ทางด้าน ดิจิทัล ในเมืองไทยจากทุกภาคส่วนของประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำจะมีจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการ แข่งกันด้วยปริมาณ (Economies of Scale) กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) หรือการแข่งกันด้วยความเร็ว (Economies of Speed) แต่คนที่จะเป็นผู้นำของสตาร์ เทคได้นั้น ต้องรวมทั้ง 3 สิ่งนี้ไว้ด้วยกัน

“ความแตกต่างของ สตาร์ เทค คือ ความกลมกล่อมในการผสมผสานของวัฒนธรรมไทยกับเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการหาสตาร์ ก็ไม่ใช่สตาร์ปกติ แต่เป็นซูเปอร์สตาร์ ที่เป็นผู้นำที่กล้าคิดและทำในสิ่งที่แตกต่าง กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ ในทุก ๆ เซกเมนต์ของการพัฒนาประเทศ ตอนแรกที่คุยกันก็คิดว่า ซูเปอร์สตาร์ คือใคร คนไทย เกือบ 70 ล้านคน ในจำนวนนั้นมี 15-16 ล้านคน หรือกว่า 7 ล้านครัวเรือนที่ยังคงยึดมั่นในอาชีพเกษตรกร ดังนั้นถ้าเราให้ผู้นำเกษตรกรได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรก็จะเป็นการนำเกษตรกรรมไทย เข้าสู่โลกใบใหม่ เป็นต้น ซึ่งเราก็จะทำให้ครอบคลุมในการพัฒนาประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยทำแต่ธุรกิจครอบครัวมาก่อน รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย มันคือสิ่งที่เราแชร์กันในประเทศ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ นั่นเป็นสิ่งที่มีมูลค่านับไม่ได้เลย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนได้เข้ามาโชว์ความ สามารถความเป็นไทย โชว์ความพยายาม โชว์เป้าหมายของความเปลี่ยนแปลงในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วยกัน” ดร.ณัฐพล กล่าว

ด้าน นายจอห์น รัตนเวโรจน์ CEO & Executive Producer Splash Interactive กล่าวว่า ผู้นำความคิดทางด้านเทคโนโลยี หรือ สตาร์ เทค นั้น คือคนที่มีความกระตือรือร้นในการออกไปหาความรู้ และนำกลับมาพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ “สำหรับผมคำว่าผู้นำในอุตสาหกรรมดิจิทัลในหลากหลายมิติ คือ ผู้ที่ออกไปหาความรู้ เพื่อต่อยอดในอุตสาหกรรม ในครอบครัว หรือชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ ผู้นำเสมือนศูนย์หน้าออกไปพิชิตความรู้ใหม่ล่าสุดโดยเป็นข้อมูลที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ ที่ออกไปล่าความรู้แล้วเอาความรู้นั้นไปมอบให้ครอบครัว บ้าน และประเทศของเรา อย่างในสตาร์ เทค 2018 ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการ นอกจากได้จะประกาศนียบัตร และโล่รางวัลแล้ว คุณยังมีพันธกิจและภารกิจที่สำคัญในการนำความรู้ต่าง ๆ จากแคมป์ที่ depa และผู้จัดงานสร้างขึ้น รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาต่อยอดและส่งต่อความรู้นั้นให้ผู้อื่น รวมถึงมีผู้สนับสนุนให้สตาร์ เทคคนนั้น ๆ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อไป นี่คือคุณค่าของการทำงานที่ depa และผู้จัดงานทั้งหมดสร้างขึ้น” นายจอห์น กล่าว


สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ :  “ผู้นำความคิดทางด้านเทคโนโลยี” (STAR TECH 2018) ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.tknonline.com, Facebook TKN online และ www.depa.or.th