จากกรณีที่ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าด้วยสัญญาเรื่องธุรกิจให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ห้องพัก ห้องเช่า หอพักต่างๆ ต้องจัดเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เหมือนกับอัตราที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เรียกเก็บกับบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป หากผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจห้องเช่าหลายแห่ง ใช้วิธีเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าในรูปแบบอื่น เช่น ลดค่าไฟฟ้าที่ห้องพักแต่เรียกเก็บค่าไฟส่วนกลางโดยไม่รวมจำนวนเงินในใบเสร็จฯ เพิ่มค่าบริการอินเตอร์เน็ต ค่าเคเบิลทีวี หรือแม้แต่ขึ้นราคาค่าห้องพัก ล่าสุดพบว่าห้องพักให้เช่าบางแห่งมีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า ตั้งค่าให้มิเตอร์หมุนเร็วเกินจริง

โดย น.ส. จิรารัฏฐ์ บูรพารัศมิ์ ผู้เช่าอพาร์ทเม้นท์รายหนึ่งย่านบางกะปิ ได้ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อว่า ตนในฐานะผู้เช่าคนหนึ่งต้องรับผิดชอบค่าเช่าห้องที่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ที่สูงเกินจริงมานานกว่า 5 ปีแล้ว เนื่องจากจำเป็นต้องอยู่เพราะที่พักอยู่ใกล้โรงเรียนลูก และด้วยเหตุผลอีกหลายอย่างจึงยังไม่สะดวกที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น ล่าสุดได้รับใบแจ้งหนี้ค่าเช่าห้องของเดือนสิงหาคม ระบุมียอดชำระค่าไฟฟ้าเป็นเงินจำนวน 2,037 บาท ซึ่งก่อนหน้านั้นทางผู้เช่าได้แจ้งไปทางเจ้าของอพาร์ทเม้นต์ว่าค่าไฟสูงผิดปกติ ขอให้จัดการแก้ไขให้โดยด่วน เช่น เปลี่ยนมิเตอร์ไฟ ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ทางเจ้าของฯ เปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้ตามที่ขอ ครั้งนี้ตนตั้งใจตรวจสอบโดยการเปิดเครื่องปรับอากาศ 1 ชม. ปรากฏว่าตัวเลขที่มิเตอร์ขึ้นไปอีกเกือบ 4 ยูนิต (จากมิเตอร์ 0015.5 เพียง 1 ชม. ตัวเลขขึ้นไปที่ 0019) ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า เป็นเรื่องไม่ปกติ ก่อนติดตั้งมิเตอร์น่าจะมีการดัดแปลงตั้งค่ามาก่อนเรียบร้อยแล้ว

“ถ้าเปิดใช้แอร์ปกติวันละ 7-8 ชม. ค่าไฟจะขนาดไหน ไม่รวมการใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อีก เรื่องนี้ขอให้ทางหน่วยงาน สคบ. เข้ามาช่วยเหลือตรวจสอบดูแลโดยด่วน เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายแห่งที่ใช้วิธีการแบบนี้  ไม่เช่นนั้นประชาชนคงต้องรับผิดชอบแบกรับค่าใช้จ่ายที่อยุติธรรมเช่นนี้ไปอีกนาน”