จังหวัดสระบุรีร่วมกับเทศบาลเมืองพระพุทธบาท จัดงานแถลงข่าวเตรียมจัดงาน ย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก“ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ประจำปี 2561 ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสระบุรี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา”  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเผยแพร่อีกหนึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ณ.โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก

งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา เป็นประเพณีสำคัญ ถือเป็นหนึ่งเดียวของไทย ที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน โดยพี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาท และใกล้เคียง ที่นำดอกเข้าพรรษามาบูชาสักการะรอยพระพุทธบาท เป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ ของชาวจังหวัดสระบุรี โดยวันจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา จะถือเอาวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาของทุกปี เป็น วันจัดงาน ตามความเชื่อที่มีสืบต่อกันมานั้น โดยผู้เฒ่าผู้แก่ ประชาชน และคนหนุ่มสาว ทุกเพศ ทุกวัย ต่างพากันไปทำบุญตักบาตรดอกเข้าพรรษา เนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น และจังหวัดสระบุรี ตามนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งนโยบายของจังหวัด ที่ได้ผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด ในปี พ.ศ. 2561 นี้ จังหวัดสระบุรีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทุกแขนง รวมทั้งประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีตื่นตัว และเตรียมตัวต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางมาชมงานครั้งนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก

 

นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี

นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า การจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นงานที่จัดขึ้นระหว่างจังหวัดสระบุรี ร่วมกับเทศบาลเมืองพระพุทธบาท วัดพระพุทธราชวรมหาวิหาร และภาคเอกชน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น จนมาเป็นประเพณีของจังหวัด และปัจจุบันเป็นประเพณีระดับประเทศ และได้ชื่อว่าเป็น “ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก” และเป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาท และพื้นที่ใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันตักบาตรดอกเข้าพรรษา

ในวันแรกของการจัดงาน จะเป็นพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท การแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรม และขบวนต่างๆ จะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” เท่านั้น ซึ่งในปีนี้จะมีพิธีเปิดงานในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561

สำหรับขบวนรถบุปผชาติที่มีความสวยงาม เป็นที่สนใจของทั้งชาวสระบุรีและนักท่องเที่ยวที่มาชมนั้น ในปีนี้ประกอบด้วย

– ขบวนที่ 1 ขบวนพยุหยาตราและขบวนเจ้าเมืองสระบุรี

– ขบวนที่ 2 ขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนเทียนพรรษาสระบุรี

– ขบวนที่ 3 ขบวนรถบุปผชาติ

– ขบวนที่ 4 ขบวนศาสนาและวัฒนธรรม

นายชนัตถ์ นันทปัญญา ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานฯ หนึ่งในคณะกรรมการการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาฯ กล่าวว่า เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย และวัฒนธรรมอันล้ำค่าของท้องถิ่นทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรีอีกทางหนึ่งด้วย เทศบาลเมืองพระพุทธบาท จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2561 โดยกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2561 ณ บริเวณถนนสายคู่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ในอดีตเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทและบุคคลทั่วไปจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งในปัจจุบันทางจังหวัดสระบุรีได้ร่วมอนุรักษ์โดยการจัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์  

 

“ต้นหงส์เหิน” หรือ “ต้นเข้าพรรษา” เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายรากกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดิน คือ กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน เกิดเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ส่วนดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย เชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” เมื่อนำมาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และ สีม่วง ซึ่งแต่ละสีมีความเชื่อ ดังต่อไปนี้ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา  สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์  สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด