สสว.อย.สวทช.เซ็นทรัลแล็บไทย ผนึกกำลังหนุน SME ไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมก้าวสู่ตลาดโลก ภายใต้กิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร
วันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สสว. อย. สวทช. และเซ็นทรัลแล็บไทย จัดงานแถลงข่าว “พลิก SME สู่อนาคต ด้วยนวัตกรรมกับกิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Strong / Regular Level) ปี 2561” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพ ฯ โดยภายในงานมี นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นายจารึก จันทวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงาน 1 และสายงาน 2 บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด เซ็นทรัลแล็บไทย นายรัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภญ. สุพัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตัวแทนผู้ประกอบการ อาทิ น้ำพริกป้าแว่น,ซอสมังคุด,กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปากน้ำโจ้โล้ และกลุ่มแปรรูปปลาสลิดหอมเพลินตา
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “พลิก SME สู่อนาคตด้วยนวัตกรรม” ในกิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Strong/Regular Level 2561) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิตสถานที่ประกอบการ โดยมีหน่วยงานภาคี 3 หน่วยงานหลักให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมฯ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการผลิต สถานที่ประกอบการ จนได้รับมาตรฐาน GMP/Primary GMP เชื่อมโยงกับโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม(ITAP)ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ ให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างและสามารถแข่งขันในตลาดได้ และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ซึ่งเป็นแล็บที่มีมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวให้เกิดการทำงานสอดประสานและรวดเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนส่งเสริมและสร้างความเข็มแข็งให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างยอดให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 นับเป็นการพลิก SME ไทยให้ปรับตัวได้ภายใต้การแข่งขันในยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0” ของภาครัฐ
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้พัฒนาต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่าย Primary GMP และสถานประกอบการผลิตอาหาร จำนวน 55 แห่งจาก 50 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสถานที่ผลิตตามเกณฑ์ Primary GMP ในชุมชน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้ นอกเหนือจากการพัฒนาสถานที่ผลิตให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว การมีสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาด โดยร่วมกับ สวทช.และทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆร่วมกันศึกษาค้นคว้านวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการแม่ข่าย ในการสร้างนักพัฒนาอาหารเพื่อให้สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพมาตรฐานตามกฏหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยอีกด้วย สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้นนั้น จะควบคุมตั้งแต่สถานที่ผลิต กระบวนผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์ การสุขาภิบาล การทำความสะอาด และบุคลากร เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการดูแลสถานที่ผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐาน อีกทั้งเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้สะดวกขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่พัฒนาระบบการผลิตผ่านตามเกณฑ์จีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน สามารถขอเลขสารบบอาหาร หรือเลข อย. ไปแสดงในผลิตภัณฑ์
รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 เพื่อสนับสนุน SME ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่พบจริงในการผลิต โดย ITAP ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายวิจัยพัฒนาให้กับ SME เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาทั้งทางด้านคุณภาพ เพิ่มผลิตภาพ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการ ฯลฯ ทำให้ SME มีความมั่นใจในการลงทุนโดยใช้ วทน. มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการจนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ที่ผ่านมา ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย และสนับสนุนการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมมาแล้ว มากกว่า 6,000 โครงการ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1,300 ราย สำหรับโครงการการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารที่เป็นต้นแบบสถานประกอบการแม่ข่ายของ อย. ITAP(สวทช.) มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับชุมชน ให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาด โดยการผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบจากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นายจารึก จันทรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ถือเป็นความจำเป็นและเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการเมื่อผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วต้องนำสินค้าเข้ามาตรวจทางห้องแล็บ เพื่อตรวจวิเคราะห์สิ่งที่อาจสารปนเปื้อน หรือ สารเคมีตกค้างในสินค้าได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการได้นำสินค้ามาผ่านการตรวจจากแล็บแล้วก็จะสามารถความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ เพราะด้วยศักยภาพและขีดความสามารถของแล็บที่เครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการทดสอบ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 400,000 ตัวอย่างต่อปี สามารถให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP โดยที่ผ่านมา เซ็นทรัลแล็บให้บริการแก่ผู้ประกอบการส่งออกด้านอาหารเป็นหลัก ปี 2560 มีสินค้าที่เข้ารับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด 500,000 ตัวอย่าง กว่าร้อยละ 71.16 เป็นสินค้ากลุ่มอาหาร