ปปท. รับเรื่อง IFEC ตรวจสอบนายทะเบียน“กรมพัฒฯ”ละเว้นฯ-เอื้อประโยชน์ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย “ซีอีโอ” IFEC ร้องปปท. ตรวจสอบนายทะเบียนฯกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและลูกน้อง หลังพบละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นธรรม และกลั่นแกล้งทำให้ IFECเสียหาย กรณีเอื้อประโยชน์กรรมการที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยการรับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ แทนคำขอจดทะเบียนเดิมที่ขอยื่นจดมานานนับปี
นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) ให้ตรวจสอบการทำงานของนายทะเบียนส่วนจดทะเบียนบริษัทมหาชน และธุรกิจพิเศษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลทางทะเบียนบริษัทมหาชน กรณีใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ขัดต่อระเบียบ กฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางเป็นธรรม กลั่นแกล้งทำให้ต้องได้รับภาระเดือดร้อนเกินจำเป็น ในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทที่ลาออก หรือ ออกจากตำแหน่งของกรรมการบริษัท โดยมิชอบ เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เป็นเหตุให้IFECและผู้ถือหุ้นกว่า30,000 ราย ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่
นายศุภนันท์ กล่าวถึงเหตุผลการร้องเรียนว่า ประการแรก การยื่นของจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ของIFEC เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2561 มีคำขอจดทะเบียน (บมจ. 101) พร้อมกัน 2 ฉบับ โดยข้อความเกือบเหมือนกันแตกต่างเพียงฉบับแรกอ้างถึง“มติที่ประชุมว่าคือวันที่ 2 พ.ค. 2560” แต่อีกฉบับกลับไม่มีลงวันที่ แต่ทั้ง 2 ฉบับมีลายมือชื่อนายทะเบียนลงไว้ จึงสงสัยว่าฉบับใดเป็นของจริง ฉบับใดเป็นเท็จ
ประการที่สอง หนังสือขอถอนคำขอจดทะเบียนกรรมการใหม่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ผ่านไปนานเกือบ 1 ปีแล้วทำเหตุใดคำขอยังคงมิได้รับการพิจารณาจดทะเบียน แต่พอมีคำขอเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมา เหตุใดกรมพัฒนฯจึงรับคำขอใหม่โดยไม่ได้พิจารณาคำขอว่าเป็นความประสงค์ที่แท้จริงของบริษัทหรือไม่ และมิได้ติดต่อสอบถามผู้ยื่นขอที่รอการพิจารณาของนายทะเบียน เพื่อสอบถามหรือแจ้งผลพิจารณา
ประการที่สาม การเร่งรีบ เร่งด่วนในการจดทะเบียนกรรมการออกโดยกรรมการท่านหนึ่ง เห็นได้ชัดว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้กรรมการเหลือ 3คนจนไม่ครบองค์ประชุม ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารจัดการบริษัทฯ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการต่างๆ ซึ่งกรมพัฒนฯทราบดีว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นผลให้เกิดข้อขัดข้องต่อการบริหารธุรกิจบริษัท เหตุใดนายทะเบียนจึงรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการลาออก และรับคำร้องขอเพิกถอนคำขอจดทะเบียนกรรมการเข้าใหม่ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ทั้งที่กรรมการท่านที่ได้ยื่นขอจดทะเบียน ไม่ได้มีหน้าที่และมีมติจากคณะกรรมการบริษัทให้กระทำการ อีกทั้งกรรมการท่านนั้นก็ไม่ได้แจ้งให้บริษัทฯให้ทราบ จึงสงสัยในจุดประสงค์การกระทำครั้งนี้ อันเป็นการกระทำความผิดอาญา
“อยากร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปปท. ให้แก้ไขปัญหาของบริษัทที่เกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทเป็นอย่างมาก โดยIFECพร้อมให้ข้อมูลและส่งมอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม” นายศุภนันท์ กล่าวเรียกร้อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทIFEC กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ตรวจสอบและเพิกถอนการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการลาออก 6 คน โดยเหตุผลเดียวกันทั้ง 3 ประการ เพราะเชื่อมั่นว่าการร้องเรียนให้ตรวจสอบมีมูลและความชัดเจนเพียงพอว่า การขอจดทะเบียนฯเปลี่ยนแปลงกรรมการIFECครั้งใหม่ของกรรมการท่านหนึ่งซึ่งไม่มีหน้าที่ละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่ง IFEC ได้เตรียมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนแล้ว แต่จนถึงขณะนี้กรมพัฒนฯยังไม่ได้ให้คำตอบ หรือ กระทำการใดๆที่จะระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ IFEC จากการรับจดทะเบียนครั้งนี้เลย
ภายหลังยื่นเรื่องต่อ ปปท.แล้ว ช่วงบ่ายวันเดียวกันนายศุภนันท์ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเร่งรัดการตรวจสอบอดีตผู้บริหารIFEC กรณีซื้อโรงแรมดาราเทวีสูงเกินจริง โดยนำคำพิพากษาศาล ที่ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทซึ่งอดีตผู้บริหารคนดังกล่าวฟ้องนายวิชัย อดีตกรรมการประธานบริษัท IFEC และนายศุภนันท์ โดยศาลให้เหตุผลของการยกฟ้องว่า พิจารณาจากพยาน หลักฐาน เอกสารการซื้อขายแล้ว พบว่าพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามีการซื้อขายสูงเกินจริงแม้ว่าการซื้อขายจะกระทำโดยอ้างมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท แต่เมื่อศาลรับฟังข้อมูลการตรวจสอบจากพยานผู้เชี่ยวชาญแล้ว ทำให้ศาลพบความไม่ชอบมาพากลและความผิดปกติของการซื้อขายครั้งนี้
ทั้งนี้บริษัทขอให้กลต.แจ้งความคืบหน้ากลับภายใน 7 วันเนื่องจากได้ส่งหลักฐานให้ กลต.ตรวจสอบมานานกว่า 1 ปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้า. ทางด้าน พ.ต.ท.เทวิล ชาญกล้า นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ กองบริหารคดี ปปท. เปิดเผยว่า หลังรับเรื่องแล้วจะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ แล้วทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่งไปยังต้นสังกัดผู้ร้องในระดับตำแหน่ง ตามที่ถูกกล่าวหา ว่ามีเหตุมีผลอย่างไร จากนั้นจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการไต่สวนต่อไป ส่วนระยะเวลาเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ..!