วันนี้ (04/11/66) หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ทรงกรุณาให้ นางสาวชญาณิศา ฐาณิชณาณัณ กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะไบบูรี่ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เชิญผ้าไตรกฐินประทาน ทอดถวาย ณ วัดวังก์พง ตำบลวังก์พง อำเภอปรานบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายสมทบทุนสร้างอุโบสถจตุรมุข และพัฒนาทัศนียภาพของวัดต่อไป ในการทอดกฐินครั้งนี้ มีพลตรีอาวุธ พุทธอำนวย ผู้บัญชาการศูนย์ทหารราบ พลตรีนิรินธน์ ปุณโณทก ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญในการนี้


เดิมวัดวังก์พงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2435 ปรากฏตามหนังสือรับรองสภาพวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนา และทะเบียนวัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีพระครูวิริยาธิการี (บุญนาค) หรือหลวงพ่อปู่นาคเป็นผู้สร้างเหตุที่หลวงปู่นาคมาสร้างวัดวังก์พงนี้ เพราะท่านต้องการสถานที่สงบเงียบเพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานท่านจึงสร้างเป็นสำนักวิปัสสนาขึ้น ณ ที่บ้านวังก์พง หมู่ที่ 2 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถานที่นั้นติดกับลำห้วยวังก์พง และที่ดินราษฎร์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีรถไฟวังก์พงเป็นที่ดินของเจ้าหมื่นคงคณาลักษณ์ถวายที่ดินให้มีเนื้อที่ดินประมาณ 6 ไร่ เป็นที่ลุ่มคับแคบน้ำท่วมขังตลอดฤดูฝนทุกๆ ปี ต่อมาเมื่อปี 2439 ขุนเสสารคาม (กำนันพลอย กระแสสินธิ์) ผู้ใหญ่กล้ำ , ผู้ใหญ่โต ได้มานิมนต์ หลวงปู่นาคไปอยู่ที่วัดหัวหิน และต่อมาท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดหัวหิน (วัดอัมพารามในปัจจุบัน) เมื่อหลวงปู่นาคจากไปแล้ว ได้มีเจ้าอาวาสรูปต่อไปดังนี้
องค์ที่ 2 พระน้อย
องค์ที่ 3 พระหัน (2539 – 2493)
องค์ที่ 4 พระคลัง
องค์ที่ 5 หลวงพ่อยุติ (2493 – 2502)
รูปที่ 6 พระไพศาล ยติกโร (พระครูไพโรจน์ยติคุณ)


เจ้าอาวาสรูปที่ 6 เห็นว่าที่ตั้งวัดเดิมมีสถานที่คับแคบเป็นที่ลุ่ม และมีน้ำท่วมขังทุกๆ ปีในฤดูฝนไม่สะดวกต่อพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญกัน ในพ.ศ. 2504 จึงมีมติร่วมกับชาวบ้าน ว่าเห็นสมควรย้ายวัด มาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสถานีรถไฟวังก์พงด้านหน้าค่ายธนะรัชต์ โดยได้รับการบริจาคที่ดินจากชาวบ้าน และอีกส่วนหนึ่งจัดซื้อขึ้นเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีเนื้อที่ดินประมาณ 95 ไร่ และต่อมาก็ได้ดำเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2522 มีสิ่งศักสิทธ์ที่สำคัญ คือ 1. พระประธานประจำโบสถ์ คือ “พระพุทธภควันตโสตถิวิมลวังก์พงสถิตย์” ซึ่งเป็นพระประธานที่พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงเสด็จเททองหล่อไว้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2522 และทรงประธานนามว่า “พระพุทธภควันตโสตถิวิมลวังก์พงสถิตย์” 2. หลวงพ่อเศียร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือกราบไหว้บูชาของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์จีนโบราณพระอรหันต์จี้กง ซึ่งแกะสลักด้วยไม้กฤษณาลงรักปิดทอง มีความสูงขนาดเท่าคนจริง และมีของล้ำค่าประเภทวัตถุโบราณจีนให้ชมอีกมากมาย
ปัจจุบันมีพระครูธรรมธรวชิรญาณ มหาวชิรญาโณ เป็นเจ้าอาวาส

มูลเหตุของกฐินประทานหม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ นี้ เนื่องด้วยหม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 4) ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงปวารณาองค์เป็นพุทธมามกะ ตั้งหทัยถวายกฐินส่วนองค์ ซึ่งปีนี้ทรงกรุณาประทานผ้าไตรกฐินถวาย 6 วัด ที่ทรงพิจารณาเป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งปีนี้ มีวัดที่ได้รับผ้าไตรกฐินประทาน ดังนี้ 1. วัดวังก์พง อ.ปรานบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2.วัดโพธิ์ทะเล อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี 3.วัดวัดอภิสิทธิ์หนองแวงม่วง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ 4.วัดสว่างโนนจาน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 5.วัดแถวอรัญญา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 6.วัดชนะตาราม อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ ตามลำดับ โดยโปรดให้นายยุทธพงษ์ เอี้ยงอ้าย เลขานุการในองค์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ประสานงานติดต่อวัดที่เชิญทอดถวาย พร้อมทั้งติดตามดำเนินการต่างๆในพิธี