สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน VDO Conference ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วช. เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคน และสถาบันด้านการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญ เนื่องจากการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และแผนกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมที่ชัดเจนและเป็นระบบ มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการสร้างนวัตกรรมที่พลิกโฉมฉับพลันอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 2566 – 2570 ได้กำหนดเป็นมาตราการในการช่วยกระตุ้นโดยเป้าหมายในปีงบประมาณ 2570 ที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำงานได้เต็มเวลา (FTE) ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน เพิ่มนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่มีทักษะสูงร่วมสร้างหรือพัฒนากับภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเป็น 30 คนต่อประชำกร 10,000 คน ภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่ผ่านการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เป็นร้อยละ 80 เป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรการวิจัยและพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนวัตกรที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Tier 1 และ/หรือมีผลงานที่จดสิทธิบัตรในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นมุ่งเน้น ในปี 2567 วช. เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ที่ 1, 2 และ 3 เพิ่มการสร้างเครือข่ายความมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (Global Partnership) และการพัฒนานักวิจัยให้มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้แผนการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการนั้น เป็นไปตามเป้าหมายที่สำคัญ คือ มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนวัตกร ในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ที่มีทักษะสูงจำนวนมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและเป็นเลิศระดับสากล และมีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่จำเป็นควบคู่กับการมีทักษะสูงด้านวิชาชีพและวิชาการ
ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “มุมมองใหม่… สู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม” โดย ศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช., ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช. และ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. จากนั้น เป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดย คุณธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3
ปิดท้ายที่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการรับทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม จากโครงการวิจัย เรื่อง “พยาธิสรีรวิทยาทางประสาทและแนวทางการรักษาแบบใหม่ในภาวะสูงอายุร่วมกับภาวะอ้วน: จากไมโตคอนเดรียถึงผู้ป่วย” โดย ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โครงการวิจัย เรื่อง “พยาธิสรีรวิทยาและศักยภาพการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่คัดเลือกเพื่อการรักษาความเป็นพิษ ต่อระบบทางเดินอาหารของยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งไทโรซีนไคเนส : การศึกษาเพื่อพิสูจน์แนวคิดโดยใช้แบบจำลองลำไส้ภายนอกร่างกายมนุษย์” โดย ศ. ดร. นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างมูลค่าพลาสติกชีวภาพด้วยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เชิงฟังก์ชันสำหรับอาหาร” โดย รศ. ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โครงการวิจัย เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือวัด เกณฑ์ประเมินสุขภาพด้วยตนเองทางดิจิทัลและผลการใช้หลักสูตรส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพตามหลักพอเพียงเพื่อลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน” โดย รศ. ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, โครงการวิจัย เรื่อง “การระบุการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและบทบาทหน้าที่ของโปรตีน Calmodulin-regulated spectrinassociated proteins (CAMSAPs) ในเซลล์มะเร็งปอดเพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและโปรตีนเป้าหมายในการรักษา” โดย รศ. ภญ. ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการวิจัย เรื่อง “ความรู้ในการสอนจำเพาะเนื้อหาโดยใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทางวิชาชีพครู: การใช้หลักการสอนสำหรับผู้ใหญ่ควบคู่กับเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบจำเพาะบุคคล” โดย ดร.ภาวัต ไชยพิเดช แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ การทำงานวิจัยอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน การกำหนดโจทย์วิจัยที่ดีคือมองให้เห็นภาพงานวิจัยให้ถึงปลายทาง นักวิจัยต้องมีฐานความรู้ความเชี่ยวชาญ/ทีมงาน/เครือข่ายที่เข้มแข็ง และการเขียน Output Outcome และ Impact ในงานวิจัยด้านสังคม
ทั้งนี้ วช. กำหนดจัดการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 ระหว่างวันที่ 19 – 27 มิถุนายน 2566 โดยมีประเด็นการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมใน 9 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน 2. ด้านสังคมและความมั่นคง 3. ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ 4. ด้านการรองรับสังคมสูงวัย 5. ด้านสัตว์เศรษฐกิจ 6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 8. ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และ 9. ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ซึ่งการชี้แจงกรอบการวิจัยฯ ทั้ง 9 ด้าน นั้น จะทำให้นักวิจัยได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญไปสู่การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต