5 ปราชญ์ชาวบ้านคว้ารางวัล “มูลนิธิสัมมาชีพ” จัดงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประกาศเกียรติคุณบุคคลสัมมาชีพ ประจำปี 2565 โดย “เจริญ รุจิราโสภณ” ประธานกรรมการบริหาร ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ ได้รับรางวัลบุคคลสัมมาชีพ พร้อม 5 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพและ 5 ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิสัมมาชีพได้จัดงานมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชูบุคคล- วิสาหกิจชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในการประกอบอาชีพโดยสุจริต และดำเนินธุรกิจตามหลักสัมมาชีพ ซึ่งถือเป็นการจัดขึ้นหลังจากว่างเว้นมา 2 ปี สำหรับรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” นี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ซึ่งในส่วนของรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ คณะกรรมการมูลนิธิมีมติคัดเลือกให้นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม เป็นบุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปีนี้ และนับเป็นคนที่ 8 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยนายเจริญเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแบบอย่างของการก่อร่าง สร้างตัว ด้วยการยึดหลักสัมมาชีพจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นบทบาทของบุคคลต้นแบบสัมมาชีพที่เติบโตไปพร้อมกับท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ สำหรับรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพมีจำนวน 5 รางวัล เป็นรางวัลที่มอบให้กับวิสาหกิจชุมชนซึ่งประกอบกิจการตามหลักสัมมาชีวะ เป็นตัวอย่างของการสร้างและขยายงานทั้งในด้านการพัฒนาความเติบโตของวิสาหกิจและการเป็นแบบอย่างความสำเร็จขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนอื่น โดยวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย รางวัลวิสาหกิจชุมชนประเภท “การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร” ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่ต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพกาแฟ รางวัลวิสาหกิจชุมชนประเภท “การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร” ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จ. แพร่ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์จากห้อมมัดย้อม และในปัจจุบันนี้ยังพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน รางวัลวิสาหกิจชุมชนประเภท “การบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี ซึ่งถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนริมแม่น้ำสุพรรณ/เพลงพื้นบ้าน ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว รางวัลวิสาหกิจชุมชนประเภท “การเกษตร” ได้แก่ วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน (PGS) จ.สมุทรสาคร ที่ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ขยายเครือข่าย และสร้างช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ รางวัลวิสาหกิจชุมชนประเภท “การเงินและสวัสดิการชุมชน” ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย จ.จันทบุรี ที่ดำเนินงานโดยมีอุดมการณ์ “ช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” โดยให้บริการออมเงิน ฝากเงิน การกู้เงิน และร่วมกับศูนย์จัดการหนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้สมาชิกในรูปแบบศูนย์จัดการหนี้บ้านชากไทยนอกจากนี้ยังมีรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” จำนวน 5 รางวัล โดยทางมูลนิธิริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลที่ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และก่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติต่อ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนา จ.สุพรรณบุรี มีผลงานโดดเด่นด้านการทำนาแบบลดต้นทุนและปลูกข้าวปลอดภัย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ ถ่ายทอดวิธีการทำนาแบบลดต้นทุนให้ชุมชนอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง นายบรรจง พรมวิเศษ ผู้นำชุมชน จ.ปราจีนบุรี สามารถบริหารจัดการหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบของชุมชนจนประสบความสำเร็จ นางประภาพรรณ ศรีตรัย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จ.แพร่ มีผลงานหัตถกรรมการย้อมผ้าด้วยห้อมอันเป็นมรดกภูมิปัญญาของชุมชนให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
นายเปลี่ยน สีเสียดค้า นักพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ จ.พะเยา มีผลงานด้านการทำปุ๋ยหมักระบบกองแบบเติมอากาศ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการผลิตทางการเกษตรเป็นแบบปลอดสารเคมี นายสุริยา ศิริวงษ์ ผู้นำแปรรูปมังคุด จ.ระนอง มีผลงานสำคัญในฐานะผู้นำวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง นอกจากนี้ยังจัดการด้านผลิตผลมังคุด ด้วยการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างแบรนด์ของชุมชนชื่อ“Queeny”“มูลนิธิขอแสดงความยินดีต่อผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน ถือว่าทุกท่านเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศ สามารถนำพาธุรกิจ วิสาหกิจ ฝ่าวิกฤติมาได้แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการบริหารจัดการต้นทุน มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และยังเป็นผู้ยึดหลักสัมมาชีพ ทำธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาเปรียบสังคม ร่วมมือกับท้องถิ่น ชุมชน จนประสบความสำเร็จ นี่คือบทบาทของบุคคลต้นแบบ-วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ-ปราชญ์ชุมชนต้นแบบสัมมาชีพที่พร้อมจะเติบโตไปกับท้องถิ่น ชุมชน ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง และสอดคล้องกับแนวทางของมูลนิธิในการมุ่งสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว