จังหวัดสุรินทร์ จับมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ครอบคลุมทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา โดยสานพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานทั้งในและนอกจังหวัด อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคม เอกชน ประชาชนคนทั้งจังหวัด ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมเชื่อมกลยุทธ์การทำงานเข้ากับโครงการต่าง ๆ ของ กสศ. เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบการบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งจะขยายผลไปสู่การทำงานขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ทุกคนต่างทราบดีว่าความยากจนเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมเสมอภาค เป็นประเด็นปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากประเทศของเรา แม้จะมีความพยายามในการทำงานเพื่อลดช่องว่างเหล่านี้ ทั้งนี้หากขุดลึกลงไปยังรากของความเหลื่อมล้ำหรือความยากจน จะพบว่า ‘ความรู้’ คือตัวแปรสำคัญ หมายถึงเราจะทำอย่างไรให้คนมีความรู้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ และนำความรู้มาประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้
การศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเด็กเยาวชนด้อยโอกาส ทำให้เราพบว่า มิติเรื่องสุขภาพหรือระดับการศึกษาในครอบครัว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงโอกาสได้ยากขึ้น เราพบครอบครัวที่มีคนมีปัญหาสุขภาพซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณในการดูแล รวมถึงครอบครัวของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสส่วนใหญ่ มักมีผู้ปกครองระดับการศึกษาสูงสุดไม่เกินชั้นประถมศึกษา โดยแม้จะมีกฎหมายระบุว่าเด็กต้องได้รับการศึกษาจนจบภาคบังคับ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวมากลับผลักให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ต้องทำงานก่อนวัยอันควร มีชีวิตวนเวียนอยู่เพียงเป็นแรงงานขาดทักษะ หรืออพยพย้ายถิ่นเพื่อหารายได้ไปเรื่อย ๆ และถ้ามีการสร้างครอบครัวใหม่ เด็ก ๆ ที่เกิดจากครอบเหล่านี้ ก็จะอยู่ในวงจรส่งผ่านความยากจนด้อยโอกาสจากคนรุ่นพ่อแม่ต่อไปไม่สิ้นสุด
“สิ่งที่เด็กทุกคนต้องการคือโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเอง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้มาตรฐานการศึกษาโรงเรียนห่างไกลมีความเสมอภาค มีมาตรฐานเพียงพอ คำตอบของคำถามนี้คือความร่วมมือของทุกคนในวันนี้ ที่จะต้องช่วยกันสร้างคุณภาพการศึกษาให้เด็ก ๆ จากหมู่บ้านหรือตำบลห่างไกล เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสต่อยอดชีวิตเช่นเดียวกับเด็กในพื้นที่อื่น นอกจากนี้เราต้องมองไปที่เด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง
“เพราะเด็กทุกคนมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง หากด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ครอบครัว สุขภาพ หรือจังหวะต่าง ๆ ในทางเดินของชีวิต ทำให้ต้องหลุดไปจากระบบและเข้าไม่ถึงโอกาส และไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดที่ทำให้เขาอยู่นอกระบบการศึกษา พวกเราจะไม่ทิ้งและจะไม่มีวันปล่อยมือจากเขา เพราะอย่าลืมว่าเด็กทุกคนที่จะเติบโตขึ้นมาล้วนสำคัญต่อโครงสร้างการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ วันนี้พวกเราจึงต้องมาช่วยกันมองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ ไม่ว่าในระบบ นอกระบบ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตได้”
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ทุกคนทุกหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันวันนี้ เพื่อปิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับคนทุกช่วงวัย ด้วยพลังของทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดสุรินทร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทุกฝ่ายมีใจและมีพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยหลังจากนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เพียงแค่สร้างความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดของเรา แต่จะเป็นประโยชน์ในฐานะตัวแบบการทำงานที่จะขยายผลไปในระดับชาติ
“การให้การศึกษาคน คือการให้โอกาสที่ดีที่สุด ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค ขอบคุณ กสศ. คณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.สุรินทร์ สมัชชาการศึกษา จ.สุรินทร์ อบจ. สุรินทร์ ในการทำงาน และขอฝากคความหวังไว้ที่ทุกท่าน ว่าลูกหลานชาวสุรินทร์ของเราทุกคน จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค และไม่มีใครหลุดไปจากระบบการศึกษาอีก”
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาขนาดใหญ่ ด้วยประเทศไทยมีเด็กเยาวชนจากครอบครัวรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนราว 1.9 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา ขณะที่กว่า 2 แสนคนหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีเด็กเพียง 5% จากกลุ่มยากจนที่สุดของประเทศที่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จึงเป็นโจทย์ของการทำงานเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล ประเด็นสำคัญคืองานวิชัยชี้ว่าโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีคุณภาพการศึกษาที่ห่างจากโรงเรียนในเมืองถึงสองปีการศึกษา และยังไม่นับว่าวิกฤตโควิด-19 ยิ่งเทำให้สถานการณ์เหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
กสศ. มีภารกิจทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งไปยังกลุ่มยากจน 15% ล่างสุดของประเทศ โดยการทำงานร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา 2.พัฒนาคุณภาพการศึกษา 3.สร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม และ 4.สนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพื่อให้ระบบดำเนินต่อเนื่องในระยะยาว
“ในการศึกษาภาคบังคับ หรือการทำงานกับเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี ราว 9 ล้านคน กสศ. มีระบบดูแลผ่านทุนเสมอภาค สำหรับนักเรียนในเกณฑ์พิจารณาความยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.2 ล้านคน มุ่งเพิ่มอัตราการมาเรียน ดัชนีการเติบโต และประคองให้เด็กไม่หลุดจากระบบ ทั้งนี้จากการลงเยี่ยมบ้าน คัดกรอง และเก็บข้อมูลโดยครูในพื้นที่ เชื่อว่าในปีการศึกษาถัดไป กสศ. จะสามารถขยายทุนเสมอภาคไปถึงเด็กได้เป็นจำนวนมากขึ้น”
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การทำงานกับจังหวัดสุรินทร์ที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงอายุ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา (TSQP) ที่เป็นการสร้างตัวแบบการจัดการศึกษา ได้ทำกับโรงเรียนขนาดกลางที่มีความสนใจ 41 แห่ง โดยร่วมกันตั้งโจทย์ กำหนดเป้าหมายพัฒนา และใช้ข้อมูลสารสนเทศพัฒนาครูผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ รวมถึงมีทีมพี่เลี้ยงที่เข้าไปดูแล ส่วนเด็กที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับ กสศ. มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่มุ่งผลิตเยาวชนให้มีทักษะอาชีพ สามารถดูแลตนเองและครอบครัว และขยายการทำงานไปยังเด็กเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ โดยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นการสร้างต้นแบบการพัฒนาการเรียนการสอน และเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบดูแลนักศึกษาสายอาชีพและนักศึกษาผู้มีความต้องการพิเศษ
สำหรับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ มี โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ที่มุ่งดูแลทั้งเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา แรงงานนอกระบบ รวมไปถึงคนทุกกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาส ให้มีการรวมกลุ่มพัฒนาทักษะอาชีพ โดยจุดเด่นคือใช้ฐานชุมชนพัฒนาไปสู่การมีอาชีพ มีรายได้ และทางต่อยอดในชีวิต นอกจากนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาทักษะด้วยฐานชุมชน ยังเป็นต้นแบบเรียนรู้ให้กับพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันสุรินทร์มี 7 เครือข่ายที่ทำงานต่อเนื่องจนเห็นความสำเร็จแล้ว “ทุกโครงการที่ กสศ. ทำร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ เป็นการดูแลคนทุกรุ่นทุกช่วงวัย โดยทุกโครงการได้ทำมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้คือความต่อเนื่อง โดยอาศัยการบูรณาการงานเชิงพื้นที่ เพื่อให้คนสุรินทร์นำเครื่องมือ และเครือข่ายเหล่านี้ไปต่อยอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดึงทรัพยากรมากระจายไปให้ถึงทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ด้วยคน และเครือข่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด