สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดความรู้การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยแนวทางมาลัยวิทยสถาน ให้แก่ผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในจังหวัดเลย ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรม ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ และคณะนักวิจัย จาก วว. เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยให้แก่ผู้เข้าอบรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนโครงการมาลัยวิทยสถาน โดยเป็นแนวคิดของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดำเนินการโดย วว. ในการนำเอานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน สู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต อาทิ การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกต้นพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับที่แข็งแรงปลอดโรค การส่งเสริมการใช้วัสดุปลูกที่มีคุณภาพและมีสารอาหารที่เหมาะสมต่อพืช ระบบการปลูกเลี้ยงสมัยใหม่ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ระบบการปลูกเลี้ยงตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว การสร้างกลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกเลี้ยงให้เข้มแข็ง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเรียนรู้เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า โครงการมาลัยวิทยสถาน ได้รับการสนับสนุนจาก วช. โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับของ วว. และพันธมิตร ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินงานผ่านโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตรตามแนวทาง “มาลัยวิทยสถาน” เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลยและลำปาง ประสบผลสำเร็จพัฒนาศักยภาพในการผลิต การแข่งขัน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน
การอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ แนวทางการพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐาน ไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ, การนำข้อมูล (Big Data) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดย รศ.ธัญญะ เตชะศีลพิทักษ์, การเข้าถึงระบบฐานข้อมูลออนไลน์ (มาลัยวิทยสถาน) โดย นายวีระ ชาติจันทึก และสรุปการพัฒนาวัสดุปลอดโรคสำหรับการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ โดย ดร.กนกอร อัมพรายน์ ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความสนใจการถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาให้สามารถผลิตไม้ดอกไม้ประดับในเชิงพาณิชย์ ได้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก และการยกระดับสู่อาชีพที่ยั่งยืนด้วยเกษตรสมัยใหม่ ตามหลัก BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับและคนในชุมชนใกล้เคียง และเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิจัยในมหาวิทยาลัย นักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างแท้จริง