ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกรรม การติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงใช้เป็นฐานเก็บข้อมูลสำคัญต่าง ๆ แต่กระบวนการจัดเก็บข้อมูลยังคงเป็นอุปสรรค เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะหลงลืม จนหาไฟล์ไม่พบ จำข้อมูลผิดพลาด รวมถึงจัดส่งเอกสารไม่ถูกต้อง

ศูนย์สารสนเทศศาสตร์บริการและท่องเที่ยวอัจฉริยะอันดามัน (Andaman Intelligent Tourism and Service Informatics Center: AI-TaSI) ร่วมกับ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดย ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ทองเทพ และนายวรุณ ซิงห์เกิล นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรม “เมมมิฟาย” (Memmify) มาช่วยแก้ไขปัญหา พร้อมช่วยประมวลผลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น การแนะนำหมวดหมู่หรือป้ายกำกับให้กับเนื้อหาต่าง ๆ ที่ผู้ใช้เพิ่มเข้าไป ช่วยประหยัดเวลาของผู้ใช้งานในการจัดระเบียบของข้อมูลเหล่านั้น

ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ทองเทพ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า “เมมมิฟาย” (Memmify) เป็นโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบของเว็บแอปพลิเคชันที่ช่วยในการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกคน เพียงผู้ใช้จดบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบเสมือนจดบันทึกทั่วไป ส่วนที่เหลือโปรแกรมจะวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลดังกล่าวให้โดยอัตโนมัติ เช่น แปลงภาพอักษรให้เป็นข้อความ, แนะนำป้ายกำกับเนื้อหา, แปลงข้อความเป็นเสียงพูด, วิเคราะห์ความคิดเห็น, จัดกลุ่มเนื้อหา โดยทำงานร่วมกับ API ของ AI FOR THAI ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้แนวคิด “AI สัญชาติไทย” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

นายวรุณ ซิงห์เกิล นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมดิจิทัล วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า เมมมิฟาย” (Memmify) ได้เปิดให้ทดลองใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เว็บไซต์ www.computing.psu.ac.th หรือที่ www.computing.psu.ac.th/nattapong โดยให้ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถเข้าไปจัดเก็บข้อมูล และมองดูไอเดียในการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลไปต่อยอดในการทำธุรกิจ หรือดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น สามารถประยุกต์ใช้เป็นระบบการจัดเก็บเอกสารข้อมูลของทางบริษัท Startup หน้าใหม่เพื่อใช้แทนในการเก็บไฟล์ข้อมูลธรรมดาที่ไม่สามารถค้นหาข้อความหรือประโยคที่ต้องการในเอกสาร, เพิ่มความสะดวกในการสแกนเอกสารที่เป็น PDF เป็นตัวอักษร, ใช้ในการวิเคราะห์อารมณ์ของจดหมาย บทความ หรือเอกสารก่อนที่จะส่งให้ผู้อื่น, สามารถใช้ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการวิเคราะห์อารมณ์ของนักท่องเที่ยว จากความคิดเห็น (Comment) ที่วิจารณ์ (Review) ไว้ในของเพจต่าง ๆ

สำหรับ “เมมมิฟาย” (Memmify) โปรแกรมประยุกต์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์และประมวลภาษาไทยสำหรับทุกคน ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพ