เหลืออีก 28 วันนับถอยหลังชี้ชะตา บริษัท ช.ทวี (มหาชน)จำกัด ลุ้น อี-ทิคเก็ต หลังจากเปิดตัว“บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าเกิดความโกลาหลอย่างหนักไม่สมราคาคุย นอกจากติดตั้งไม่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาแล้วระบบเชื่อมต่อยังไม่สามารถใช้งานได้กับเซริฟเวอร์หลักของ ขสม.และธนาคารกรุงไทย เพื่อตัดยอดเงินออกจากบัตรได้ ประธานสหภาพ ขสมก.ชี้ถ้าไม่ทันจริงๆ ขสมก.ต้องยกเลิกสัญญา ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าบริษัท ช ทวี จะไม่สามารถส่งมอบงานได้ทัน เรื่องนี้พิจารณาเป็นสองประเด็น ประเด็นแรก สัญญาบอกว่าภายในวันที่ 13 ต.ค. 60 ช.ทวีต้องส่งมอบอุปกรณ์ควบรถจำนวน 100 คัน ความเห็นของตนคือ จะต้องใช้งานได้ หลังจากนั้นก็ทยอยส่งเรื่อย ๆ จนครบ 800 คันภายในวันที่ 12 ธ.ค. 60
เกิดอะไรขึ้นก็อย่างที่สื่อมวลชนได้ยินได้ฟัง คือระบบไม่สามารถใช้งานได้ และแก้ไขปัญหาเฉพาะด้วยการใช้โมบายโฟน หรือเอาคูปองฉีก อย่าลืมว่า พนักงานเก็บค่าโดยสารหรือ พกส.ถ้าขายตั๋วเขาจะมีค่าตอบแทนประมาณ10 สตางค์ต่อหนึ่งใบ เมื่อระบบมันใช้งานไม่ได้ แสดงว่าเครื่องการเชื่อมต่อไม่เข้าสู่ระบบไม่สามารถหักเงินออกจากบัตรได้
นายวีระพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าบริษัท ช.ทวี จะเป็นเสนอตัวออกมารับผิดชอบค่าโดยสารให้ ขสมก.แทนภาครัฐ และยอมจ่ายค่าปรับ แต่ทางเราไม่ต้องการเงินค่าปรับ เราต้องการนำรถมาใช้งาน การปรับมันไม่เกิดประโยชน์ ส่วนจะผิดสัญญาหรือไม่นั้นต้องไปดูที่รายละเอียดว่า เขียนไว้อย่างไร แต่ถ้าสัญญาบอกว่าวันที่ 13 ต.ค. 60 แล้วไม่ทันต้องถือว่าทิ้งงาน ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ ขสมก.ยินยอมแก้ไขสัญญาการซ่อมแซมอุปกรณ์ จาก 2 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่? ประธานสหภาพฯตอบว่า ใน ทีโออาร์. ก็มีระบุไว้ว่า กรณีที่ระบบไม่สามารถใช้งานได้หรือเกิดข้อขัดข้องประการใด บริษัทจะต้องเร่งแก้ไขภายใน 2 ชั่วโมง แต่พอไปดูสัญญาที่ทำปรากฏว่าในข้อ 7.4 ระบุว่า กรณีที่ระบบเกิดปัญหาให้ช่างเดินทางไปภายใน 3 ชั่วโมง ทำไมมันไม่ตรงกับ ทีโออาร์ ที่กำหนดคนอื่นอาจมองว่า อย่างนี้มันเอื้อประโยชน์สิ ผมไม่รู้หรอกต้องเข้าไปตรวจสอบดู ถ้าทำแล้วมันเป็นคุณต่อองค์กรก็ดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์กับองค์การก็อาจถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ “การแก้ไขสัญญามันต้องเป็นคุณกับ ขสมก. หน้าที่ผมคือรักษาผลประโยชน์ให้องค์กร ไม่ได้คิดให้ร้ายใคร อยากให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ต่อองค์กร และต่อพนักงาน ทำให้มันถูกต้อง ระบบไม่พร้อมทำไมไม่ขอขยายเวลาออกไป ดีกว่าทำแล้วมันเกิดปัญหา ประชาชนก็สับสน ผมได้รับการร้องเรียนมามาก ผมรับปากว่าจะตรวจสอบให้” นายวีระพงษ์กล่าว การที่ขสมก.อนุญาติให้นำอุปกรณ์ที่ไม่อยู่ใน TOR นี่ก็อีกกรณีตนถึงอยากให้ไปตรวจสอบ ผอ.สารสนเทศต้องออกมาชี้แจงว่า โมบายโฟนอยู่ในสัญญาไหม และเอาโมบายโฟนมาใช้เพื่ออะไร ทำความเข้าใจกับประชาชน ทำความเข้าใจกับพนักงาน ไม่ใช่รู้อยู่คนเดียว ยังไงเดี๋ยวผมจะไปสอบถาม ส่วนเรื่องคูปอง เห็น ช.ทวี บอกว่าเอาคูปองมา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเขาจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนมาตรการตรวจสอบก็บอกไม่ได้ รู้เพียงแต่ว่า มีการฉีกหางบัตร วิ่งรถหนึ่งเที่ยวได้เท่าไหร่ก็ให้นายท่าและพนักงานประจำรถลงบันทึกไว้เพื่อให้สอดคล้องกัน ว่านี่คือกลุ่มคนใช้บริการ ส่วนช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการทุจริตหรือไม่? ผมกำลังมองอยู่เหมือนกัน ถ้าถามว่า มีอุปสรรคไหมก็ต้องบอกว่ามันมีหลายขั้นตอน ไหนจะมีโมบายโฟน ไหนจะต้องฉีกบัตร พูดง่าย ๆ คือเกิดการไม่คล่องตัวและเพิ่มภาระให้ พนักงาน ขสมก. สำหรับกรณีที่รัฐบาลยกเลิกรถเมล์ฟรี ยกเลิกเงินสนับสนุนรถเมล์ 800 คัน ขสมก.ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเมื่อยกเลิกรถเมล์ฟรี รายได้ที่เราได้มันก็น้อยลง ส่วนที่เอาอี-ทิคเก็ตมาใช้นั้นเป็นแผนฟื้นฟูในอนาคตว่า จะให้มีแต่ พนักงานขับรถ หรือ พขร.อย่างเดียว อันนี้เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่วิธีการต้องค่อยเป็นค่อยไป การนำระบบอี-ทิคเก็ตมาใช้จะต้องไม่เลิกจ้าง หรือไล่ พสก.ออก พูดง่าย ๆ คือถ้าเอาระบบอี-ทิคเก็ตมา องค์การก็จะลดรายจ่ายในส่วนของ พกส. แต่ทางเราก็ทำหนังสือยืนยันไปแล้วว่า จะต้องมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งให้เขามีรายได้ ต้องไม่บังคับขู่เข็ญเลิกจ้าง โครงการเกษียณก่อนกำหนดจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ระบบอี-ทิคเก็ตไม่ได้กระทบเพียงเท่านี้ มันยังกระทบฝ่ายสนับสนุนด้วย เช่น ห้องตั๋ว ห้องเงิน อัตราจ้างงานจะต้องลดน้อยถอยลง ตนมองว่าภาครัฐควรเข้ามาดูแล ถ้า พกส.คนไหนมีความรู้ความสามารถก็ต้องขยับตำแหน่งให้ ที่สำคัญระบบอี-ทิคเก็ต ยังไม่มีการทำประชาสัมพันธ์ที่ดี แม้แต่ พขร.เองก็ยังไม่เข้าใจระบบที่จะใช้เลย ส่วนข้อครหาที่ว่า การบริหารสัญญาของ ขสมก.เลือกปฏิบัตรกรณีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารเอ็นจีวี.489 คันที่ทำไว้กับบริษัทเบสทริน กรุ๊ป จำกัด เปรียบเทียบกับสัญญาที่ ขสมก.เปรียบเทียบกับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต ของบริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) อาจเข้าข่าย 2 มาตราฐาน กรณีเงื่อนเวลาการส่งมอบสินค้า และการแก้ไขสัญญา
เรื่องนี้ ขสมก.มีคณะกรรมการตรวจรับอยู่ก็ต้องไปดูสัญญา ถ้าเกิดไม่ทำตามสัญญาก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน อย่าให้คนอื่นมองว่าเลือกปฏิบัติ มีระเบียบหลักเกณฑ์ใดก็ยึดตามนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายที่เป็นคู่สัญญาอย่างเสมอภาคไร้ซึ่งอคติ สำหรับเรื่อง อี-ทิคเก็ต ก็ต้องรอให้ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 60 ก่อน คณะกรรมการจะไปดูว่าเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา ขสมก.ก็คงต้องยกเลิกสัญญาแล้วหาบริษัทผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่านี้มาดำเนินการให้แล้วเสร็จต่อไป