ล้มแล้วล้มอีก…ล้มแบบไร้น้ำยาชนิดเข็นไม่ขึ้นจริงๆ

การประมูลรถเมล์ เอ็นจีวี. 489 คัน ของ ขสมก.ครั้งล่าสุดต้องล้มลงอย่างไม่เป็นท่า ก็เพราะมีขบวนการปั่นราคาเดิมจาก 3.3 พันล้านบาท เป็น 4,020 ล้านบาท เพียงเพราะหวังได้เงินทอนกว่า 600 ล้านบาท ทั้งที่ราคาก็ได้อย่างสมใจกันไปแล้ว แต่ผลการประมูลรอบล่าสุดยังล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากไม่มีเอกชนรายใดยื่นซองเสนอราคา ตั้งแต่เช้าจนเย็นปิดเวลาทำการ ขสมก.กลายเป็นแม่สายบัวแต่งตัวรอเก้อไม่มีเจ้าบ่าวมาสู่ขอ ช่างน่าอับอายสิ้นดีกับการบริหารงานองค์การรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ทั้งๆที่มีหนี้สินท่วมหัว ไม่มีแม้กระทั่งเงินเดือนจะจ่ายพนักงาน ถึงกับต้องร้องขอ ครม.ช่วยอนุมัติเงินกู้แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ก็ยังไม่เจียมตัว ยังเล่นบทลูกคุณหนูไฮโซนิยมของแพง ขยันอุปโลกน์แสวงหาราคากลางจัดซื้อรถเมล์ครั้งแล้วครั้งเล่า ขนาดดันราคาแพงขึ้นกว่าเดิมถึง 600 กว่าล้าน ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจจะเข้าร่วมสังฆกรรมด้วย แหล่งข่าวภายใน ขสมก.รายงานว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องราคาที่ต่ำอย่างที่ผู้บริหาร ขสมก.กับเอกชนเจ้าเก่ารายเดิมสร้างกระแสเป็นคู่หูคู่ดัน อ้างราคา 3.3 พันล้านบาทถูกไปสู้ไม่ไหวๆ แล้วทีนี้จะยังไง เมื่อราคาก็ถูกดันขึ้นไปที่ 4,020 ล้านบาท แต่กลับไม่เห็นแม้แต่เงาบริษัทเอกชนป๋าดันที่ขยันออกมาป่าวประกาศว่าจะเข้าร่วมชิงชัยคว้างานประมูลครั้งนี้มาให้ได้จริงๆหรือเป็นแค่กระตุ้นราคาหุ้นในตลาดซะมากกว่า นอกจากไร้เงาไม่เข้าร่วมแล้ว ยังอ้างเหตุผลสมเป็นพระเอกหนังไทยว่า ” เกรง ขสมก.จะถูกครหาจากการที่บริษัทฯนำเข้ารถสเป็คเดียวกับ ขสมก.จำนวน 50 คันใกล้เคียงกับที่ต้องส่งมอบ ขสมก.ล๊อต แรกก่อนปีใหม่ เกรงจะถูกกล่าวหาว่า ขสมก.เอื้อประโยชน์ให้บริษัททั้งๆที่การนำเข้ารถเอ็นจีวี.ล๊อตนี้ ก็เพื่อส่งมอบให้บริษัทฯรถร่วมบริการ ขสมก.บริษัทฯหนึ่งหนึ่งที่สั่งซื้อมาก่อน” ประเด็นนำเข้ารถโดยสาร เอ็นจีวี.สเป็คเดียวกับ ขสมก.จำนวน 50 คันนี้คงขอฝากให้กรมศุลกากร ช่วยตรวจสอบอย่างละเอียดว่า อาจมีความผิดเกี่ยวกับรถจดประกอบตามมาตรา 6 หรือไม่? หากไม่พบความผิด คงต้องชื่นชมในความเป็นพระเอกของผู้บริหารบริษัทมหาชนแห่งนี้จริงๆ จึงขอให้ท่านเปิดเผยชื่อและหลักฐานการซื้อขายรถเอ็นจีวี.ให้กับบริษัทฯรถร่วม ขสมก.ใดที่สั่งซื้อ จะถือว่าเป็นความกรุณาอย่างสูง แต่ถ้าท่านไม่กล้าเปิดเผย คงต้องขอยืนยันตามข้อมูลเดิมว่าบริษัทฯท่านได้นำรถบัสเอ็นจีวี.ล๊อตดังกล่าวมาเพื่อหวังชิงความได้เปรียบคู่แข่งผู้ประมูลรายอื่นจริงๆ เหตุเพราะมีเสียงทางไกลจากประเทศจีน ข้อมูลไม่ตรงกับที่อ้างไว้คือ “ โรงงานประกอบรถโดยสารที่ประเทศจีนไม่รับ แอลซี.หรือ หนังสือรับรองการชำระหนี้ของธนาคาร แต่ต้องการเงินสด 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อวางมัดจำค่าประกอบรถเอ็นจีวี.จำนวน 489 คัน เหตุเพราะเมื่อปี 2558 ได้เคยเปิดออเดอร์รถเอ็นจีวี.จำนวนนี้ไปแล้ว และโรงงานได้ประกอบไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ต่อมากลับยกเลิก มาครั้งนี้เครดิตหมดสิ้นทางโรงงานจึงต้องขอเงินสด 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อวางมัดจำในล๊อตนี้ ขณะที่บริษัทฯกระเป๋าแฟบ จากการนำเงินบริษัทฯมาลงทุนให้ ขสมก.ในอีกโครงการฯ ประกอบกับไม่มีเอกชนรายใดที่มีการไปล๊อบบี้ขอให้เป็นคู่เทียบราคาให้ความร่วมมือกับแม้แต่รายเดียว” ขณะที่มีเสียงสะท้อนจากเอกชนผู้ซื้อซองประกวดราคารายหนึ่ง(ไม่ขอเอ่ยนาม)ว่า “จริงๆแล้วการที่ไม่มีเอกชนรายใดเข้ายืนซองเสนอราคาโครงการจัดซื้อรถเอ็นจีวี.ไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาที่พยายามจะดันกันขึ้นไปให้สูงขึ้นทุกครั้งที่มีการเปิดประมูล แต่คือเอกชนเกิดความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อใจ หมดศรัทธากับการบริหารสัญญาที่ไม่เที่ยงตรงของผู้บริหาร ขสมก.และมักจะถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในระดับกระทรวง” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักเช่น เอกชนรายใดชื่นชอบเป็นพิเศษทำผิดสัญญาแบบชัดๆจะแจ้งอย่างไร ขสมก.ก็มองผ่านแถมให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แถมแก้ต่างให้จนออกนอกหน้า ส่วนรายใดที่ไม่โปรดปรานจะด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ แม้การกระทำผิดยังไม่ชัดเจน ยังอยู่ในกระบวนการที่ต้องพิสูจน์ในชั้นศาล ผู้บริหาร ขสมก.กลับยินดีที่จะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา ด้วยการยกเลิกสัญญาซื้อขายกันดื้อๆโดยไม่ฟังแม้คำสั่งศาล การประมูลจัดซื้อรถเอ็นจีวี.489 คันครั้งล่าสุดที่ล้มครืนนอกจากจะส่งผลให้ผู้บริหาร ขสมก.และรัฐมนตรีคมนาคมต้องหน้าแตกไปตามๆกัน ถึงขนาดที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ต้องเรียกผู้บริหาร ขสมก.ประชุมด่วนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน หลังไม่มีเอกชนยื่นซองประกวดราคาแม้แต่รายเดียว จะเป็นด้วยท่านห่วงเก้าอี้รัฐมนตรีของท่านจะกระเด็นหรือเพื่อหาทางออกจัดซื้อรถเมล์ฉาวก็ตาม แต่ที่แน่ๆชัดๆคือความพยายามที่จะจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ แถมยังจะดันราคาเพิ่มงบประมาณไปอีก 402 ล้านบาท ขอให้ทุกฝ่ายจับตาไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายณัฏฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม และนายพิชิต อัคราทิตย์ รมช. คมนาคม เพื่อหารือกรณีที่ไม่มีเอกชนรายใดเสนอราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารเอ็นจีวี. 489 คันอย่างเร่งด่วน แม้ล่าสุดนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธาน บอร์ด ขสมก. เปิดเผยหลังประชุมบอร์ด ขสมก.นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขสมก. ได้ประชุมบอร์ดนัดพิเศษเพื่อพิจารณาปัญหาโครงการจัดซื้อรถ 489 คัน ราคากลาง 4,020 ล้านบาท แต่ไม่มีเอกชนยื่นเอกสารประกวดราคาจนต้องล้มประมูลเป็นครั้งที่ 6 โดย ขสมก.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างชุดใหม่ มีนางพนิดา ทองสุข ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. เป็นประธานเพื่อทบทวนร่างขอบเขตของงาน (TOR) ใหม่ เช่น อาจขยายเวลาส่งมอบรถให้นานขึ้นจากเดิมกำหนดให้ภายใน 120 วัน เนื่องจากเป็นเหตุให้เอกชนที่ซื้อเอกสารประกวดราคาครั้งล่าสุดไม่มายื่นข้อเสนอราคาผ่านระบบอีบิดดิ้ง เพราะอาจส่งมอบรถไม่ทันและต้องใช้เวลาเตรียมตัว หากยังจำกันได้นายสุนทร ชูแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเบสทรินเคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ขสมก.หรือใครก็ตามที่กำลังใช้ความพยายามผลักดันราคากลางรถเอ็นจีวี. 489 คันที่กำลังจะมีการประมูลจาก 3.3 พันล้านเป็น 4 พันกว่าล้าน ขอเรียนว่าราคาที่เบสทรินชนะนั้น เป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว ขสมก.ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถเมล์แพงไปมากกว่านี้ หากมีเจตนาที่จะผลักดันราคาเช่นนั้นจริง ย่อมทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น การกระทำเช่นนี้อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาและต้องมีผู้รับผิดชอบ ทนายสุนทรกล่าวต่อไปว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ขสมก.พยายามผลักดันให้มีการขี้นราคากลางทุกครั้งที่มีการเปิดประมูลจัดซื้อรถเอ็นจีวี.ตนไม่เข้าใจว่า เหตุที่ยกเลิกสัญญาจัดซื้อกับเบสทรินเป็นเพราะ เบสทรินส่งมอบรถไม่ทันตามที่สัญญาระบุไว้จริงๆหรือเป็นเพราะราคาของเบสทรินถูกเกินไปไม่ถูกใจบางคน นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างมาก การที่เบสทรินถูกกรมศุลกากรกล่าวหาว่า หลบเลี่ยงภาษีเรื่องยังอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่า เบสทริน ผิดตามข้อกล่าวหานั้นหรือไม่? แม้สุดท้ายแล้วเบสทริน เป็นฝ่ายผิดเงินประกันภาษีนำเข้ารถเอ็นจีวี.ที่วางไว้จำนวน 40เปอร์เซ็นต์สูงสุดเต็มจำนวน กับกรมศุลกากรต้องถูกยึดเข้าแผ่นดินเท่ากับว่า รถเอ็นจีวี.จำนวนนั้นได้ชำระภาษีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นรถที่ถูกต้องแล้วผ่านพิธีทางศุลกากรเสร็จสิ้นแล้ว หรือในทางกลับกันหากเบทสรินพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กรมศุลกากรและ ขสมก.อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและอาญา คงต้องว่ากันไปตามเวรตามกรรม แต่ความเสียหายที่ไม่สามารถชดเชยได้คือ การเสียโอกาสของประชาชนคนกรุงเทพฯและการเสียโอกาสทางธุรกิจและการปฏิรูป ขสมก…และที่สำคัญการเสียหน้าของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะมอบรถเมล์ใหม่ๆให้เป็นของขวัญปีใหม่คนกรุงเทพฯ มีอันต้องยกเลิกไปอีกปี ใครจะรับผิดชอบและรับผิดชอบกันอย่างไร?