กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 ให้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และเตรียมการให้คนไทยมีวัคซีนพร้อมใช้ในเวลาเดียวกับประเทศชั้นนำของโลกตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการบริหารจัดการให้แน่ใจว่าจะมีวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและจำนวนเพียงพอ ซึ่งต้องเตรียมการทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการผลิตควบคู่กันไป สำหรับประเทศไทย กระทรวง อว. ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข บริหารแผนปฏิบัติการด้านวัคซีนโรคโควิดของประเทศ โดยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การเตรียมโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งต้องจัดการให้เหมาะสมจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศภายในปีหน้าได้หากประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด และอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วประมาณ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) ได้สนับสนุนทุนวิจัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 โดยได้มีการดำเนินการไปแล้ว 5 โครงการในหลายสถาบันและมีความก้าวหน้าจนถึงขั้นทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว ซึ่งในขณะนี้งานวิจัย “วัคซีนชนิด mRNA” ที่ศูนย์วัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในเบื้องต้นหลังทดสอบในหนูทดลองแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มมีการทดสอบในลิงในประเทศไทยต่อไป
ในการนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทดสอบดังกล่าว ณ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธุ์ สุทธิรัตน์ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ