สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งสนับสนุนการวิจัยโครงการประเทศไทยในอนาคตเพื่อวิเคราะห์รายละเอียดภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยร่วมกับหน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ 8 หน่วยงาน วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นแบบแผนทุกมิติ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, ราชบัณฑิตยสภา, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการวิจัยในประเด็นสำคัญของประเทศโดยมีโครงการท้าทายไทย (Grand Challenge) ในเรื่อง “ประเทศไทยในอนาคต” หรือ “Future Thailand” ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์ภาพอนาคตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารวมทั้งการตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อทำฉากทัศน์และภาพของประเทศไทยโดยกำหนดทุกช่วง 5 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นใน 10 มิติสำคัญ คือ 1. ประชากรและโครงสร้างสังคม 2. สังคม ชนบท ท้องถิ่น 3. การศึกษา 4. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 5. เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม 6. เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ 7. วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) 8. การเมือง 9. บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และ 10. คนและความเป็นเมือง โดยมิติต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
โครงการนี้ยังจะเป็นการสร้างเครือข่ายการวิจัยและนักวิจัยชั้นนำผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนงานวิจัยชิ้นสำคัญนี้ อาทิ การพยากรณ์หรือคาดการณ์สถานการณ์เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้น หากทราบว่าประชากรไทยในช่วงเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี จะมีจำนวนเท่าไร มีผู้จะเข้าสู่วัยทำงานจำนวนเท่าไร จบการศึกษาด้านไหน ภาคการศึกษา/เอกชน สามารถคิดกลยุทธ์ในการดำเนินการกิจกรรมได้สอดรับกับสถานการณ์ การเตรียมตั้งรับของภาคอุตสาหกรรมจะสามารถนำไปวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์สังคม สภาพสังคม จากข้อมูลการแต่งงาน การเลือกประเภทที่อยู่อาศัย การย้ายถิ่นฐาน การผลิตสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภค แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น
การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายทั้งภายในและภายนอก ผลลัพธ์และความแม่นยำเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทีมวิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศจาก 8 หน่วยงานจึงผนึกกำลังกัน อีกทั้งจะยังมีส่วนในการส่งเสริมการสร้างฐานความรู้ให้กับหลาย ภาคส่วนในการนำผลงานวิจัยชิ้นนี้ที่ร่วมกันทำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เป็นข้อมูลที่ภาคประชาชน เอกชน ภาครัฐ จะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้