จากนี้ธงชาติไทยที่คนไทยคุ้นตา พร้อมกับเพลงชาติไทยที่คนไทยคุ้นหู จะพาให้หัวใจคนไทยพองโต ภาคภูมิในความเป็นไทยอีกครั้ง เมื่อได้ทราบถึงพัฒนาการความเป็นมาของธงชาติไทยที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายมากกว่าแค่ผืนผ้าที่โบกสะบัดอยู่บนยอดเสา เพื่อปลุกจิตสำนึกความรักชาติและความสามัคคีของชนในชาติ ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ และความภาคภูมิใจในธงชาติไทยต่อไปยังทุกภาคส่วนของประเทศ ตลอดจนน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกับวชิราวุธวิทยาลัย จัดนิทรรศการธงชาติไทย ณ อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2562 ความพิเศษของนิทรรศการ “ธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ที่จะกลับมาสร้างความประทับใจอีกครั้ง จะพาให้ทุกคนเพลิดเพลินไปกับวิวัฒนาการของธงชาติไทยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ธงไทยในเวลาโลก” สะท้อนพัฒนาการของธงชาติไทยที่แต่ละสมัย ซึ่งไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติ แต่เบื้องหลังธงชาติไทยทุกผืนยังเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกไว้
เนื่องจากพัฒนาการของธงชาติไทยเชื่อมโยงกับพัฒนาการของชาติมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นปฐมบทแห่งการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งความสัมพันธ์ในเชิงการทูต การค้า กระทั่งความสัมพันธ์ที่สยามไม่สามารถจะเลือกให้เป็นไปตามความปรารถนาได้ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะของสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทำให้สยามสามารถประคองรัฐนาวาฝ่าคลื่นลมอัน เชี่ยวกรากมาได้อย่างสง่างามและก่อเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกันนี้เพื่อให้การรับชมนิทรรศการเปี่ยมไปด้วยอรรถรส
นอกจากการนำเสนอในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการ ยังมีการจำลองบรรยากาศให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงการนำวัตถุอันทรงคุณค่ามาร่วมจัดแสดงให้เสมือนกับนิทรรศการมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีการอบรมนักเรียนวชิราวุธให้เป็นเยาวชนต้นแบบที่มีความรู้และมีความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับธงชาติไทยได้อย่างถูกต้อง เพื่อทำหน้าที่เป็น “มัคคุเทศก์” บรรยายตลอดนิทรรศการ อันประกอบด้วย 9 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 “ธงแดง” ซึ่งถือเป็นธงผืนแรกของสยามก็ว่าได้ ตามหลักฐานในบันทึกฝรั่งเศสที่ระบุว่ากรุงศรีอยุธยาใช้ธงสีแดงเป็นธงประจำชาติ ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส โซนที่ 2 “ธงพื้นแดงจักรขาว” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นช่วงเวลาที่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้กับการเกิดขึ้นของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
โซนที่ 3 “ธงพื้นแดงจักรขาวและช้างเผือก” เป็นธงที่ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยต่อเนื่องจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคที่มีการค้นพบช้างเผือกหลายเชือก และเป็นช่วงที่เริ่มมีการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม จากนั้นเข้าสู่โซนที่ 4 “ธงช้างเผือกบนพื้นแดง” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่สยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง อันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าและการศาลของสยาม เป็นอย่างมาก โซนที่ 5 “เหตุการณ์ รศ. 112” ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์สำคัญ คือการใช้นโยบายแข็งกร้าวของฝรั่งเศส ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียดินแดนและเสียเงินค่าปรับ โซนที่ 6 “ธงแดงขาวและกำเนิดธงไตรรงค์” เดิมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มใช้ธงริ้วแดง ขาวก่อน หลังจากนั้นเมื่อทรงนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงพระราชทานธงไตรรงค์ ซึ่งมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์ธงชาติไทยแล้วไปเติมความรู้ในการใช้ธงอย่างถูกต้องกันต่อยังโซนที่ 7 “วิธีใช้และการประดับธง” อย่างถูกต้อง โซนที่ 8 “ธงสำคัญของชาติ” นำเสนอธงสำคัญของชาติ อาทิ ธงมหาราช ธงราชินี เป็นต้น และโซนที่ 9 “การใช้ธงในตราสินค้า” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการประดับและการนำภาพธงชาติไทยประกอบเครื่องหมายหรือประดับบนสินค้า
นิทรรศการธงชาติไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดประตูต้อนรับคนไทยทุกคนมาร่วมเรียนรู้ และซึมซับความภาคภูมิใจในความเป็นไทยไปด้วยกัน เปิดให้เข้าชมพร้อมกันระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายน 2562 เข้าชมได้ระหว่างช่วงเวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์ 02-283-4729 มือถือ 092-480-8448 (ร.ต.ต.หญิงเมทินี ศรีรุ่งเรือง)