สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกครั้งที่ 10 หรือ 10th World Environmental Education Congress (WEEC2019) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ ในการนี้โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานประชุม WEEC2019 พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณฐาปน ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) Mr. Mario Salomone เลขาธิการ World Environmental Education Congress และเจ้าหน้าที่คณะผู้จัดงานร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้ทรงเปิดงานและทรงบรรยายปาฐกถาพิเศษ จากนั้นเสด็จฯ ไปยังห้องนิทรรศการ ณ ห้องภิรัช ๑ เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการภายในบริเวณงาน และทอดพระเนตรผลงานด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากร การจัดการประชุมนานาชาติ ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๐ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย สถาบันโลกร้อนศึกษาโดยมูลนิธินภามิตร สำนักงานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาโลกสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน รวมถึง ส่วนงานภาครัฐบาลและเอกชนที่ได้ให้การสนับสนุน ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) C Asean บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรีจํากัด (มหาชน) บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท็อปกัน จำกัด ภายใต้การอำนวยการจัดงานประชุมโดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นเนล อีเว้นท์ จำกัด การประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้พระราชาทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ภายใต้การดำเนินงานของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าร่วมเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีทางธรรมชาติช่วยธรรมชาติผ่านเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ และเป็นการจุดประกายให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิชาการทางสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การหาแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและร่วมกันหาแนวทางจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับ ภูมิภาคและระดับโลก ภายใต้หัวข้อ “Local Knowledge, Communication and Global Connectivity”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งภายในประเทศไทยเอง และองค์กรระดับโลกที่เกี่ยวข้องและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นสากล ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทำให้การประชุมในครั้งนี้จะเกิดความร่วมมือขึ้นและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อีกทั้งผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ก็มาจากหลากหลายประเทศ มีนักวิชาการจากทั่วโลก ซึ่งได้รับเกียรติจาก Mr. Mario Salomone เลขาธิการ World Environmental Education Congress และ Mr. Niclas Svenningsen, Manager of Global Climate Action จาก United nations Framework Convention on Climate Change มาร่วมด้วย พร้อมปราชญ์ท้องถิ่น ตลอดจนเยาวชนในประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันกำหนดวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้สิ่งแวดล้อมผ่านรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร่วมกันกำหนดขึ้นจะได้รับการเผยแพร่ไปยังผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหารและนักวางแผน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกจะได้เยี่ยมชมเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งทรงคุณค่าสำหรับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเป็นการเผยแผ่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปยังนานาอารยประเทศ
“การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ และการเกิดผลกระทบทางอ้อมอันมีสาเหตุมาจากภัยพิบัติธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลกทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการสร้างนโยบาย มาตรการ และแผนงานในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การประชุมด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ การควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ผ่านกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ถือกำเนิดมาจากพลังขับเคลื่อนของมนุษย์ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สังคม ประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในการถ่ายทอดความรู้สิ่งแวดล้อมไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก จิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะปัจเจกละภาคเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิชาการทางสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การหาแนวทางในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของโลกและสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”
ดร.สุเมธ กล่าวว่าการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะก่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้เป็นไปตาม “แผนจัดการคุณภาพ สิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔” รวมถึงประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องในวงการสิ่งแวดล้อมศึกษาได้รับความรู้และมีความเข้าใจด้านการร่วมกันพัฒนาความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา และการให้ความสำคัญใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนในอนาคตต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงอายุมีโอกาสได้แสดงออกทางความคิด ใช้ความรู้ความสามารถและความสนใจเพื่อกระตุ้นความสำคัญ และรณรงค์ให้ทั่วโลกดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ บนเวทีวิชาการระดับสากล รวมถึงการเป็นพื้นฐานของความร่วมมืออันจะนำไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อร่วมกันให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในทุกระดับช่วงอายุระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียต่อไป และสุดท้ายจะเกิดความร่วมมือเชิงนโยบายระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ภายใต้แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔