GPSC ประกาศผล 5 โครงงานสิ่งประดิษฐ์เยาวชนไอเดียนวัตกรรมเจ๋ง ในเวที GPSC Young Social Innovator 2019 ปีที่ 2 สถาบันการศึกษาแห่เข้าร่วมส่งผลงานกว่า 200 โครงงานจากทั่วประเทศ ลุ้นชิงชนะเลิศโค้งสุดท้ายต้นปี 63 ดันเป็นโครงการต้นแบบด้านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น การพัฒนาพลังงานที่มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานจริงในชุมชน
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2562) บริษัทฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” ให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ที่เข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตรและทุนในการสนับสนุน เพื่อพัฒนาโครงงานให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยได้มีการขยายพื้นที่การรับสมัครนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 โครงงาน และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 โครงงาน โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 4 โครงงาน ภาคกลาง 7 โครงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงงาน ภาคตะวันออก 9 โครงงาน และภาคใต้ 4 โครงงาน ซึ่งมี 5 โครงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย ก่อนที่จะมีการตัดสินทีมผู้ชนะเลิศ ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศจะได้รับรางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 3 รางวัลจะได้รับโล่และทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท
สำหรับผลงานที่เข้ารอบทั้ง 5 โครงงาน ประกอบด้วย
- 1.ทีม ต้นกล้าเปลี่ยนโลก โรงเรียน ปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี ชื่อผลงาน แคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า
- 2.ทีม Better life battery โรงเรียน กำเนิดวิทย์ จ. ระยอง ชื่อผลงาน Modification of Li-S battery with irradiated activated carbon derived from Sticky Rice
- 3.ทีม รักษ์โลก โรงเรียน กำเนิดวิทย์ จ. ระยอง ชื่อผลงาน เซลล์ไฟฟ้าแบคทีเรียเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสีย: การเตรียมขั้วไฟฟ้าแบบใหม่ที่มี L-cysteine บนอนุภาคนาโนเหล็กยึดติดกับกราฟีนออกไซด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับแบคทีเรียในน้ำเสีย
- 4.ทีม Fruit Guard โรงเรียน พนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ชื่อผลงาน ปลอกเทียมห่อผลไม้ 5.ทีม PM 4.0 โรงเรียน วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จ.มุกดาหาร ชื่อผลงาน การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ สำหรับอนุบาลเมล็ดข้าวพันธุ์ กข 6
“การจัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงานและใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน ที่จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบ และมีโอกาสนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาได้จริง รวมถึงสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)” นายศิริเมธ กล่าว อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางและนโยบายของบริษัทฯ ในด้านความรับผิดชอบต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนของไทยให้เกิดการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน